กทม. 14 ก.พ.-สำนักข่าวไทยตรวจสอบสถิติการตรวจยึดไม้หวงห้ามจากกลุ่มมอดไม้ พบอันดับ 1 เป็นไม้พะยูง รองลงมาเป็นไม้ชิงชัน และไม้ประดู่ โดยสถิติย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ปี 2553 ถึงเดือน ม.ค.ปีนี้ พบว่าไม้พะยูงถูกลักลอบตัด 6,100 ตารางเมตร มูลค่า 3,000 ล้านบาท
ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่า 6 อันดับแรกของไม้หวงห้ามที่มีการถูกลักลอบตัดขายส่งไปต่างประเทศ พบว่าอันดับแรกคือ ไม้พะยูง รองลงมาคือ ไม้ชิงชัน และไม้ประดู่ ส่วนไม้สัก ไม้แดง และไม้มะค่า ก็ถูกลักลอบตัดเป็นอันดับ 4-6 ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญที่เป็นสิ่งจูงใจให้ลักลอบตัดไม้ พบว่าสาเหตุหลักคือ ราคาสูง โดยไม้พะยูงมีราคาสูงที่สุดประมาณ 500,000 บาทต่อตารางเมตร ส่วนไม้ชิงชัน และไม้ประดู่ ราคาประมาณ 100,000 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่ไม้สัก ไม้แดง และไม้มะค่า มีราคาประมาณ 30,000 บาทต่อตารางเมตร
สำหรับสถิติการตรวจยึดไม้หวงห้ามทุกชนิด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559-ตุลาคม 2560 มีจำนวนรวม 1,852 ลูกบาศก์เมตร และนับเฉพาะตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน พบว่าตรวจยึดได้ 378 ลูกบาศก์เมตร
จำแนกเฉพาะเจาะจงไปที่ “ไม้พะยูง” พบว่าห้วง 8 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2553 ถึงเดือนมกราคม 2561 พบว่าเจ้าหน้าที่จับกุมคดีลักลอบตัดไม้พะยูง 9,196 คดี มีผู้ต้องหา 6,936 คน ยึดไม้พะยูง 127,055 ท่อนต่อแผ่นต่อเหลี่ยม ปริมาตรรวมทั้งหมด 8 ปีย้อนหลัง คือ 6,125.48 ตารางเมตร มูลค่าโดยเฉลี่ยตามราคาตารางเมตรละ 500,000 บาท คิดเป็น 3,069 ล้านบาท สอดคล้องกับดีมานด์และซัพพลาย เนื่องจากพบว่าไม้พะยูงเป็นไม้ที่กลุ่มมอดไม้นิยมลักลอบตัดส่งออกไปยังต่างประเทศ เพราะเป็นไม้มงคลตามความเชื่อ เนื้อไม้แข็ง ลำต้นสูง 15-25 เมตร พบมากในป่าเบญจพรรณในภาคอีสาน และเคยมีข้อมูลว่าอาจเป็นไม้ที่ราคาแพงที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง เพราะถูกลักลอบส่งออกไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ และมีข้อมูลว่าอาจมีเฉพาะในไทยเพียงแห่งเดียวของโลก
สำหรับไม้ประดู่และไม้ชิงชันที่ตรวจพบในพระนครศรีอยุธยาตามที่รายงานไปนั้น หากส่งออกไปต่างประเทศจะราคาสูงขึ้นไปอีก เนื่องจากเป็นไม้หายาก โดยไม้ประดู่พบในแถบเอเชียอาคเนย์ เป็นพันธุ์ไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทย และขึ้นในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 100-600 เมตร ส่วนไม้ชิงชันพบในป่าดิบแล้งถึงป่าเบญจพรรณทั่วไป เปลือกหนาสีน้ำตาลอมเทา เนื้อไม้ภายในเป็นสีเหลือง มีความแข็งและเหนียว จึงถูกนำมาทำเป็นเครื่องเรือนและเครื่องดนตรี และไม้ชิงชันถูกขึ้นบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในสถานะ “ถูกคุกคาม” และใกล้สูญพันธุ์.-สำนักข่าวไทย








