กรุงเทพฯ 13 ก.พ. – ธนาคารกสิกรไทย รุกโมบายแบงก์กิ้ง K PLUS เพิ่ม 4 ฟังก์ชั่น ให้สินเชื่อส่วนบุคคลผ่านมือถือ หวังครองใจแม่ค้าออนไลน์
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันโมบายแบงก์กิ้ง K PLUS มียอดทำธุรกรรม 3,000 ล้านรายการต่อปี มีปริมาณธุรกรรม 6.3 ล้านล้านบาท จากฐานลูกค้ามากถึง 7.5 ล้านราย ซึ่งเป็นผู้เข้าใช้งานเป็นประจำร้อยละ 80 ถือว่าสูงมาก ซึ่งธนาคารตั้งเป้าหมายมีผู้ใช้งานแอปฯ K PLUS เพิ่มเป็น 10.8 ล้านราย และ แอปฯ K PLUS SHOP เพิ่มเป็น 1 ล้านร้านค้า ภายในสิ้นปี 61
นายพัชร กล่าวว่า แอพลิเคชั่น K PLUSเพิ่ม 4 ฟังก์ชั่นในการให้บริการ ประกอบด้วย 1.Quick Pay ที่ไม่ต้องล็อกอินเข้าระบบ เพียงสแกนผ่าน QR Code ซึ่งขณะนี้มีการใช้จ่ายด้วย QR Code ผ่าน K PLUS จำนวน 1.3 ล้านรายการ มีมูลค่าการทำธุรกรรม 811 ล้านบาท 2.ช้อปสินค้าบนแอปที่จะเปิดให้บริการเดือนมีนาคมเป็นต้นไป โดยเป็นการเปิดแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำสินค้ามาจำหน่ายบนแอป ตั้งเป้าหมายส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้ากว่า 30 ล้านรายการภายในปีนี้ และมียอดการซื้อขายผ่านระบบอีมาร์เก็ตเพลสกว่า 600 ล้านบาทในระยะเวลา 1 ปี
3. ขายและเรียกเก็บเงินผ่านโซเชียลมีเดีย” (Social Payment) ให้ผู้ขายรับเงินจากลูกค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟสบุ๊ค เมสเสนเจอร์, อินสตาแกรม, ไลน์, วอทแอพ ได้ทันที เพียงแค่ส่งบิลที่อยู่ในรูปแบบคิวอาร์โค้ดที่เป็นของร้านค้า ให้ลูกค้าสามารถชำระเงินผ่าน K PLUS หรือ โมบายแบงกิ้งของทุกธนาคารเพื่อซื้อสินค้า และ บริการได้ทันที ซึ่งปัจจุบันมีแม่ค้าออนไลน์ใช้แอพลิเคชั่น K PLUS ประมาณ 850,000 ราย มีสัดส่วนประมาณร้อยละ50 ของทั้งระบบ ซึ่งตั้งเป้าจะมีแม่ค้าออนไลน์ใช้บริการมากขึ้น และ 4 .บริการสินเชื่อบุคคลบน K PLUS โดยลูกค้าสามารถกดเข้าไปเลือกวงเงินที่ต้องการกู้ ระบบจะแสดงวงเงินกู้สูงสุดที่ลูกค้าสามารถกู้ได้ กดรับสินเชื่อได้ วงเงินกู้จะเข้าในบัญชีทันที ซึ่งธนาคารจะกำหนดเงินให้สินเชื่อตามความสามารถในการจ่ายคืนลูกค้า โดยพิจารณาจาก เงินเดือนและประวัติการใช้จ่าย โดยคาดหวังจะมีลูกค้ายื่นขอสินเชื่อประมาณ 700,000-800,000 คน จากจำนวนลูกค้าที่มี ความสามารถในการผ่อนชำระ 2 ล้านคน ส่วน ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ4-5
“ธนาคารคาดหวังว่าลูกค้า จะทำธุรกรรมอื่นๆผ่านแอพลิเคชั่น K PLUS มากขึ้น โดยเฉพาะแม่ค้าออนไลน์ จากปัจจุบันลูกค้าร้อยละ 40 ใช้K PLUS เช็คยอดเงิน ร้อยละ 20 เป็นการจ่ายบิล และร้อยละ 40 ทำธุรกรรมโอนเงิน” นายพัชร กล่าว.- สำนักข่าวไทย