สำนักข่าวไทย 12 ก.พ.–ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ชี้ ปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.ลดลง แต่ยังคงมาตรการเฝ้าระวังในพื้นที่ เบื้องต้นไม่พบคนป่วยจากฝุ่นละออง แนะคนกลุ่มเสี่ยงหลีกพื้นที่มีค่า PM 2.5 สูง สวมหน้ากากอนามัย N 95 หรือใช้ ผ้าขนหนูชุบน้ำกันฝุ่นละออง
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวว่า สถานการณ์แนวโน้มค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตเมืองขณะนี้ ภาพรวมถือว่า ปริมาณฝุ่นละอองลดลงและมีแนวโน้มดีขึ้น การเฝ้าระวังในขณะนี้ ได้มีการประสานและติดตามข้อมูลกับโรงพยาบาลในพื้นที่เขตเมืองหรือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้แหล่ง ที่กรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลว่า มีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน โดยในวันนี้พบ 2 จุดคือบริเวณริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี วัดได้ 59 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร. ,ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง วัดได้ 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (โดยค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ) โดยยังไม่พบอัตราการเจ็บป่วยของประชาชน จากค่าฝุ่นละอองอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งนี้ประชาชนควรตระหนัก แต่ไม่ควรตระหนก หรือตกใจกับสถานการณ์ ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยควรติดตามข่าวสารของกรมควบคุมมลพิษและคำเตือนของกระทรวงสาธารณสุข
นพ.รุ่งเรือง กล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มคนที่ต้องเฝ้าระวังดูแลสุขภาพเป็นพิเศษกรณีเข้าพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูง ได้แก่ ผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจหรือปอด,ถุงลมโป่งพอง,ภูมิแพ้ ควรมีการสวมหน้ากากอนามัย N 95 หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำให้เปียกแล้วปิดจมูกเวลาเดินผ่านเข้าพื้นที่ที่มีฝุ่นควันเนื่องจากความเปรียบชื้นของผ้าจะช่วยกันฝุ่นละอองได้และควรหลีกเลี่ยงเข้าพื้นที่ที่มีเขตก่อสร้างควรพักผ่อนอยู่กับบ้านหรือในอากาศที่ลงสบายสำหรับผู้นิยมออกกำลังกายก็ควรเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงที่มีค่าฝุ่นละอองหรือหมอกควันความสูงเช่นกัน
นพ.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า สำหรับสาเหตุของการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครสูงนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเผาไหม้ท่อไอเสียรถยนต์ และการก่อสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้า หรืออาคารต่างๆในพื้นที่กรุงเทพมหานครทำให้เกิดฝุ่นละอองแล้วหมอกควันกระจายไปในหลายพื้นที่ ดังนั้นภาครัฐควรปรับเรื่องมาตรฐานในการก่อสร้างเพื่อลดปัญหามลพิษขณะเดียวกันต้องให้ ความรู้กับประชาชนเพื่อป้องกันตนเองโดยเน้นกลุ่มเสี่ยง .-สำนักข่าวไทย