กรุงเทพฯ 8 ก.พ. – ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจเทศกาลวันวาเลนไทน์-ตรุษจีนปีนี้คึกคัก เงินสะพัดกว่า 60,000 ล้านบาท มูลค่าสูงแต่ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้จะคึกคักมากกว่าเดิม คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 56,860 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.52 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 45.9 ระบุว่าจะซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่มูลค่าการใช้จ่ายสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น และสินค้าปีนี้แพงขึ้นด้วย ซึ่งการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนส่วนใหญ่ซื้อของเซ่นไหว้ รองลงมาไปทำบุญ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ให้แต๊ะเอีย ซื้อเสื้อผ้ารองเท้า และท่องเที่ยว ตามลำดับ
ทั้งนี้ มีการวางแผนไปท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.3 ไม่มีการวางแผนท่องเที่ยว ส่วนอีกร้อยละ 23.7 วางแผนท่องเที่ยว โดยร้อยละ 85 จะเที่ยวในประเทศ เดินทางท่องเที่ยววันที่ 16 กุมภาพันธ์ และกลับวันที่ 18 – 19 กุมภาพันธ์ โดยเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวและไปกับครอบครัว ขณะที่อีกร้อยละ 15 จะไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ซึ่งประเทศที่จะไปเที่ยวส่วนใหญ่ยังอยู่ในเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี
ส่วนเทศกาลวันวาเลนไทน์วันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 3,822.27 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.10 ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 53.1 จะมีการฉลองในวันวาเลนไทน์ ส่วนร้อยละ 41.9 ไม่ฉลอง โดยการแสดงความรักส่วนใหญ่ร้อยละ 56.4 จะแสดงความรักกับคนรักรองลงมาร้อยละ 18.1 แสดงความรักกับพ่อแม่ และร้อยละ 7.8 แสดงความรักกับเพื่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ประมาณ 2,395 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ร้อยละ 51.3 ยังคงซื้อของให้กันในปริมาณเท่าเดิม แต่มูลค่าสูงขึ้น เพราะส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 53.6 เห็นว่าสินค้าแพงขึ้น เศรษฐกิจกิจดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ร้อยละ 12.4 ตอบว่ามูลค่าการใช้จ่ายลดลง เนื่องจากต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายและสินค้ามีราคาแพง ซึ่งใช้จ่ายส่วนใหญ่จะซื้อดอกไม้ รองลงมาเป็นเดินห้าง และซื้อของขวัญ โดยทั้ง 2 เทศกาลจะทำให้เงินสะพัดรวมกันมากกว่า 60,000 ล้านบาท มูลค่าสูงสุดในรอบ 10 ปี แต่ขยายตัวน้อยสุดรอบ 6 ปี ถือเป็นการเพิ่มสัดส่วนเศรษฐกิจโดยรวมอีกร้อยละ 0.3 ของจีดีพี แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่สูงแต่ก็เป็นช่วงที่ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวัง เพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว.-สำนักข่าวไทย