ร.ร.ดุสิตธานี 6 ก.พ. -กกร.มองศก.โลกมีสัญญาณบวกมากขึ้น สอดคล้องมุมมอง IMF คงคาดการณ์จีดีพีปี’61 อยู่ในกรอบ 3.8-4.5% ส่งออก 3.5-6% เงินเฟ้อทั่วไป 1.1-1.6%
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนก.พ. 2561 ว่าที่ประชุมเห็นว่าเศรษฐกิจหลักของโลกปี 2561 มีสัญญาณบวกมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการปรับลดภาษี ซึ่งก็สอดคล้องกับมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจหลักต่างๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามมาตรการทางการค้าของสหรัฐที่อาจจะมีการดำเนินการเพิ่มเติมก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพ.ย.2561 รวมทั้งความผันผวนของทิศทางค่าเงินดอลลาร์ฯ ด้วย
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็วในระยะเพียง 1 เดือนที่ผ่านมา สร้างความกังวลใจต่อประเด็นความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ดังนั้นแม้ขณะนี้ กกร. จะยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจและการส่งออกในปี 2561 ไว้ตามเดิม แต่จะติดตามสถานการณ์เพื่อประเมินผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงต่อไปอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ หากจะคาดการณ์ค่าเงินบาทได้แม่นยำคงเป็นลำบาก เพราะขณะนี้ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงเดือนม.ค.แข็งค่ามากถึง 4% จากปีปีที่ผ่านมาแข็งค่า 10% จากเดิมคาดแข็งค่าอู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 32 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เมื่อสองวันที่ผ่านมาอ่อนค่าลงมา สะท้อนค่าเงินบาทมีความผันผวนค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงคาดการณ์ค่าเงินบาทระยะข้างหน้าให้มีความแม่นยำได้น้อยลงไปมาก
“เรายังคงต้องติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างระมัดระวัง ถ้าเงินบาทแข็งค่าเพราะไทยค้าขายแล้วมีกำไร เงินก็เข้ามาในประเทศ แม้จะเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 4% น้อยกว่าอดีตที่ขยายตัว 10% แต่ก็ยังมีกำไรจากการค้าขายเข้าประเทศ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็สูงขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจภายในประเทศของไทยแข็งแกร่ง ขณะที่หลายประเทศดำเนินนโยบายการเงินด้วยการดูแลค่าเงินให้อ่อนลง นักลงทุนจึงนำเงินเข้ามาลงทุนในไทยทั้งตลาดหุ้น ตลาดบอนด์ระยะสั้น หากเป็นประเทศที่เศรษฐกิจไม่แข็งแกร่งก็อาจรับมือไม่ได้ ก็จำเป็นต้องมีมาตรการดูแลค่าเงิน แต่ไทยแข็งแกร่งทั้งยังมีการกำกับดูแลทำให้ยังสามารถรองรับความผันผวนได้” นายปรีดีกล่าว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีหน้าที่ต้องระมัดระวังเพื่อให้ผู้ปฏิบัติอยู่ในกรอบ โดยจะเห็นว่าส่วนหนึ่งมีการกำกับไม่มีมีการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของ กกร. คิดว่าพยายามทำให้มีการลงทุนต่างประเทศและชำระหนี้ต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงซื้อเงินตราต่างประเทศและฝากในรูปแบบเงินตราต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งมีการชี้แจงให้ทางการรับทราบ ส่วนเอสเอ็มอีก็มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น ควบคู่กับการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้เอสเอ็มอีรู้จักใช้เครื่องมือทางการเงินมากขึ้น
นายปรีดี กล่าวว่า นอกจากนี้ กกร.เห็นว่ายังมีแรงส่งของการขยาาตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปี 2560 ขณะที่การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 (งบกลางปี) ของภาครัฐอีก 1.5 แสนล้านบาท น่าจะมีส่วนหนุนเศรษฐกิจได้เช่นกัน ทาง กกร.ประเมินว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2561 อยู่ในกรอบ 3.8-4.5% การส่งออกคาดขยายตัว 3.5-6% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.1-1.6%
ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมีผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ยอมรับเป็นต้นทุนการผลิต 8-14% ขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม แต่เมื่อประกาศให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในทางปฏิบัติจริงไม่ได้มีการปรับขึ้นทุกคน แต่มีการปรับขึ้นจริงเพียงประมาณ 20% ของแรงงานขั้นต่ำ จึงน่าจะส่งผลกระทบเพียง 2% ซึ่งคิดเป็นต้นทุนผู้ประกอบการเพียง 0.3% – สำนักข่าวไทย