รัฐสภา 31 ม.ค.- “สมชาย แสวงการ” ไม่มีสนช.ไปล็อบบี้ กกต.เพื่อขอให้แก้ร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส. ชี้อยู่ในขั้นตอนส่งให้ กรธ.และ กกต.พิจารณาว่ามีประเด็นใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ปัดยื้อเวลา
นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวถึงกรณีที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุมีสนช.บางคนไปล็อบบี้ให้แก้ไขร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ประเด็นให้พรรคจัดมหรสพเพื่อการหาเสียง ว่า ไม่ทราบว่ามีสนช.คนใดไปล็อบบี้และจะล็อบบี้ทำไม เพราะขณะนี้ถือว่าสนช.ทำหน้าที่เสร็จแล้ว หลังจากนี้เป็นเรื่องของประธาน กกต. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่จะพิจารณาว่ามีประเด็นใดที่ส่อว่าจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และทำความเห็นกลับมาภายใน 10 วันหลังจากที่ได้รับแจ้งจากประธาน สนช. ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาตรวจถ้อยคำของประธาน ก่อนจะส่งไปโดยใช้เวลาประมาณ 7-15 วัน
“ไม่มีประเด็นที่จะยื้อเวลา ที่ผ่านมากฎหมายทุกฉบับก็ใช้เวลาไม่เกิน 15 วันหากยาวกว่านี้จะต้องมีคำตอบให้กับทุกฝ่าย เรื่องที่มีข่าวว่าจะขยายเวลาในการส่งร่างให้กกต.กับกรธ.ช้าออกไปอีก 1 เดือนเพื่อขยายเวลาเลือกตั้ง ไม่เป็นความจริง ไม่เกี่ยวกับเกมยื้อใด ๆ ทั้งสิ้น อย่าไปมโน เพราะถ้าช้ากว่านี้ประธานสนช.ก็ต้องมีคำตอบให้สังคมว่าทำไมถึงยังไม่เสร็จ” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวว่า เท่าที่ติดตามและมีเสียงท้วงติงอยากให้มีการปรับแก้ร่างกฎหมายดังกล่าว 3-4 ประเด็น เช่น เรื่องการตัดสิทธิชั่วคราวฝ่ายบริหารหรือข้าราชการการเมือง และข้าราชการท้องถิ่นที่ไม่ไปเลือกตั้ง ประเด็นเรื่องมหรสพ แต่ตนมองว่าประเด็นเหล่านี้ ไม่น่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีข้อห้ามไว้ ตอนนี้สนช.ไม่มีสิทธิทำอะไร นอกจากรอ กกต. และกรธ. เว้นแต่ประเด็นเหล่านี้มีสนช.บางส่วนมองว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็สามารถเข้าชื่อกัน 25 คน ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เหมือนร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.
นายสมชาย ยังกล่าวถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ว่า ถือเป็นเรื่องดีที่จะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฎิบัติตาม เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง และการวางมาตรฐานเช่นนี้ถือเป็นหลักประกันเพื่อให้ผู้ทำหน้าที่ได้ปฏิบัติและให้ประชาชนตรวจสอบได้ ที่ผ่านมามักจะมีข้ออ้างว่ามีการให้เป็นสินน้ำใจ แต่ถ้ากำหนดชัดเจน ก็เชื่อว่าจะทำให้ระบบอุปถัมภ์ การทุจริตคอร์รับชั่น ลดลง และจะได้ไม่มีข้ออ้างใด ๆ .-สำนักข่าวไทย