ก.อุตสาหกรรม 29 ม.ค. – รมว.อุตสาหกรรมเสนอมาตรการลดภาระต้นทุนเอสเอ็มอีหลังขึ้นค่าแรงเข้า ครม.พรุ่งนี้ พร้อมดึง 50 บริษัทใหญ่ร่วมโครงการบิ๊กบราเธอร์ คาดช่วยเอสเอ็มอี 300 ราย
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยถึงแนวทางความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ว่า กระทรวงเตรียมเสนอมาตรการพัฒนาผลิตภาพเอสเอ็มอี 4.0 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2561-2563) เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบวันที่ 30 มกราคมนี้
สำหรับปีนี้ตั้งเป้าช่วยยกระดับผลิตภาพ ลดต้นทุน และส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ 50,000 ราย ให้มีความสามารถในการแข่งขัน แบ่งเป็นปีแรกตั้งเป้าหมายส่งเสริมเอสเอ็มอีเข้าโครงการ 10,000 ราย สามารถลดต้นทุนเฉลี่ยร้อยละ 10 วงเงินงบประมาณ 800 ล้านบาท ปีที่ 2 ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 20,000 ราย และปีที่ 3 อีก 20,000 ราย
นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือภาคเอกชนทั้งสภาหอแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดกลุ่มธุรกิจให้ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ พร้อมบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐกับเอกชน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ภายใต้ 9 มาตรการสำหรับส่งเสริมเอสเอ็มอีเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ รวมถึงสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในการเข้าไปพัฒนางานวิจัยและให้ความปรึกษาแนะนำเอสเอ็มอีแต่ละรายที่เข้าร่วมโครงการปรับตัว อาทิ โครงการบิ๊ก บราเธอร์ ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ามีบริษัทขนาดใหญ่ทั้งของไทยและต่างชาติ 50 ราย เข้าร่วมโครงการเป็นพี่เลี้ยงช่วยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูปสินค้าเกษตร การตลาด และแพ็กเกจจิ้งแก่เอสเอ็มอี เป็นต้น
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2560 สภาหอฯ ได้ดำเนินโครงการบิ๊ก บราเธอร์มาอย่างต่อเนื่องมีบริษัทขนาดใหญ่เข้าร่วมโครงการ 25 ราย สามารถช่วยเอสเอ็มอี 140 ราย มียอดขายเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว จาก 50 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท และปี 2561 ที่ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าดึงบริษัทใหญ่เข้าเป็นพี่เลี้ยงในโครงการเพิ่มเป็น 50 ราย คาดว่าจะช่วยเอสเอ็มอีได้ 300 ราย มียอดขายเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีก 1 เท่าตัวเช่นกัน. – สำนักข่าวไทย