กรุงเทพฯ 28 ม.ค. – นักวิชาการมองเลื่อนการเลือกตั้งส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุน เพิ่มความขัดแย้งทางการเมือง บั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเลื่อนการเลือกตั้งส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนจากการสร้างความไม่แน่นอนไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการเลื่อนอีกหรือไม่ในอนาคต ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนที่คาดหวังให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยลดลง นอกจากนี้ เพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองโดยไม่จำเป็นบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุน เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเมืองและการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในอนาคต ระบบนิติรัฐและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการลงทุนและการตัดสินใจ ยิ่งเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ และสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างโปร่งใส เป็นธรรมและน่าเชื่อถือมากเท่าไหร่ จะยิ่งลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตการณ์การเมืองรอบใหม่มากเท่านั้น และเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า แม้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังคงดี การขยายตัวเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนส่งผลดีต่อภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวของไทย แต่ความล่าช้าของการเลือกตั้งทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสในการเริ่มต้นเจรจาข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกา และการตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งสหรัฐอาจตัดสินใจเข้าร่วมอีกครั้งหนึ่ง
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวว่า การคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการกระจายอำนาจมากขึ้น การกระจายอำนาจจะเป็นปัจจัยจำเป็นต่อการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การกระจายตัวของรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ระบบการเมืองที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีเสรีภาพจะช่วยลดการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจลง สามารถใช้เสรีภาพโดยไม่ถูกปิดกั้นในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้ดีกว่า โดยเฉพาะไม่ปิดกั้นคนส่วนใหญ่ที่จะกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง และต้องการระบอบประชาธิปไตยที่จะส่งเสริมหรือเอื้อต่อการที่ประเทศจะเข้าสู่โลกาภิวัตน์ได้อย่างเข้มแข็ง มีคุณภาพ ทำให้ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มที่.-สำนักข่าวไทย