กรุงเทพฯ 12 ก.ค. – อดีตกรรมการแบงก์ชาติเสนอนโยบายเร่งด่วนแก้ปัญหาส่งออกทรุดตัว แนวทางบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและกำกับดูแลสถาบันการเงิน
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าการทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วของภาคส่งออกจะทำให้เกิดการเลิกจ้างจำนวนมาก การผิดนัดชำระหนี้และหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงครึ่งปีหลัง ธปท.จึงควรต่อมาตรการการเลื่อนชำระหนี้ที่กำลังสิ้นสุดลงประมาณเดือนตุลาคม 2563 โดยอาจต้องต่ออายุไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการเลื่อนชำระหนี้จะกระทบต่อสถาบันการเงินบางแห่งที่มีอัตราส่วนกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงไม่สูง และ ธปท.ควรสนับสนุนให้มีการเพิ่มทุน หรือมีมาตรการช่วยเหลือสถาบันการเงิน การที่หนี้เสียในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเป็นสัญญาณอันตรายทางเศรษฐกิจที่ต้องตระหนักว่าโครงการและมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ 400,000 ล้านบาทนั้น ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วแต่รอบคอบ มีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลตามเป้าหมาย
ขณะเดียวกันต้องมุ่งเป้าไปที่การขยายการจ้างงานขนาดใหญ่และการช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ไม่ให้ปิดกิจการเพิ่มเติม อย่าไปคาดหวังว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมากโดยเร็ว ภาคการท่องเที่ยวจะไม่ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ธุรกิจการท่องเที่ยวและการจ้างงานในกิจการท่องเที่ยวต้องมีการปรับโครงสร้างให้ไปทำงานอย่างอื่นแทนไม่น้อยกว่า 30-40% เพราะอุปทานและห้องพักในโรงแรมที่มีอยู่ในขณะนี้ล้นเกินความต้องการมาก และไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่อย่างน้อย 3-4 ปี การสร้างสนามบินแห่งใหม่ การขยายสนามบินนานาชาติ ก็ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนควรนำเงินงบประมาณไปทำเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าในการช่วยเหลือความเดือนร้อดของประชาชนและกิจการขนาดเล็กขนาดกลางมากกว่า
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ธปท.ต้องกล้าตัดสินใจเพิ่มปริมาณเงินบาทเข้ามาในระบบชะลอการแข็งค่า พร้อมเสริมสภาพคล่องให้กับภาคการเงินและภาคธุรกิจ บริหารอัตราแลกเปลี่ยนเชิงรุกเพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลง และอาจต้องพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีกในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป และการที่ลูกหนี้ของสถาบันทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้ของสถาบันการเงินหรือผู้ฝากเงินไม่มั่นใจต่อฐานะของกิจการโดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดเล็ก การเคลื่อนตัวจากภาคการเงินที่มีเสถียรภาพสู่ภาคการเงินเปราะบางเกิดขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และมีแนวโน้มเกิดภาวะหนี้เสียและวิกฤตินั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน มีความจำเป็นต้องกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบ “countercyclical” หรือแบบต่อต้านภาวะเศรษฐกิจหดตัวมากขึ้น ผลักดันให้เกิดระบบ Smart Banking and Financial Market System อย่างทั่วถึง มีนโยบายแก้ปัญหา Shadow Banking และการเงินนอกระบบ การกำกับดูแลและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและตลาดการเงินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของภาคเศรษฐกิจจริง.-สำนักข่าวไทย