กรุงเทพฯ 8 ธ.ค. – นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ระบุค่าแรงขึ้น 5-6 บาท ไม่ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น อย่าเป็นข้ออ้างขึ้นราคา เสนอรัฐออกสวัสดิการเพิ่มผู้มีรายได้น้อย ดูแลเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาท ว่า ไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้น จึงไม่ควรเป็นเหตุของการปรับเพิ่มราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ไม่มีผลต่อการกระตุ้นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจมากนักเพราะปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มยังไม่ได้เป็นค่าแรงที่เพียงพอต่อมาตรฐานการดำรงชีพ จึงขอเสนอรัฐบาลมีมาตรการสวัสดิการเพิ่มเติมให้กับผู้มีรายได้น้อย และมีมาตรการดูแลสถานประกอบการขนาดเล็กที่อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้าง
ทั้งนี้ จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอาจทำให้มีการลดชั่วโมงการทำงานและเลิกจ้างมากขึ้นเสนอให้นำระบบค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงมาบังคับใช้ในไทย โดยให้มีอัตราสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานและบริหารต้นทุนด้านแรงงานได้ดีขึ้นและจ้างเท่าที่จำเป็นต้องใช้แรงงาน และระบบการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นยังสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำ
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เสนอรัฐบาลเตรียมรับมือกับสถานการณ์การเลิกจ้างจากภาวะเศรษฐกิจและการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต ข้อมูลองค์กรแรงงานระหว่างประเทศระบุ 17 ล้านตำแหน่งงานในไทยช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้ามีความเสี่ยงถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ มีความจำเป็นต้องมีการออกแบบระบบเศรษฐกิจใหม่ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น ส่วนคนงานทักษะต่ำในภาคส่งออกที่มีการหดตัวมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างจากการไม่มีคำสั่งซื้อในช่วงครึ่งแรกปี 2563 จากการนำระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานเพิ่มขึ้น .-สำนักข่าวไทย