กรุงเทพฯ 25 ม.ค. – กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมถกหอการค้าไทย 29 ม.ค.นี้ คลอดมาตรการอุ้มเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบขึ้นค่าแรง
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดตัวเปิดตัว“DIP SME Academy” และระบบการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ ผลักดันแนวคิดนวัตกรรม เชิงสร้างสรรค์ พัฒนาศักยภาพต่อยอดธุรกิจ เพื่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ว่า วันที่ 29 ม.ค. นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเชิญนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมหารือถือแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่คาดว่าจะโดนผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง เนื่องจากจะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะใช้ 9 มาตรการของกระทรวงเป็นตัวสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับกระทบเรื่องค่าแรงสามารถลดต้นทุนในส่วนอื่น ๆ ได้ เช่น โครการ Train The Coach หรือการสร้างโค้ช เพื่อส่งไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี SME Big Data ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงบริการของภาครัฐและเครือข่ายอย่างครบถ้วนทุกที่ทุกเวลา และโครงการ Big Brothers หรือโครงการพี่ช่วยน้อง เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้นจะเน้นที่ผู้ประกอบการกลุ่มการค้าและการบริการก่อน เนื่องจากมีปริมาณมากและน่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะยังใช้คนดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงงานจะครอบคลุมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระบบ 3 ล้านราย แบ่งเป็นภาคบริการและภาคเกษตรที่มีกว่า 2.5 – 2.6 ล้านราย ซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่าภาคผลิตที่มีอยู่ 400,000 ราย รวมทั้งการดำเนิน 9 มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของรัฐบาล ซึ่งมาตรการเบื้องต้น เช่น การส่งเสริมนำระบบออโตเมชั่น และหุ่นยนต์เข้ามาพัฒนาคุณภาพการผลิต ลดต้นทุน การขยายช่องทางการตลาดเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน กสอ.ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเปิดกิจกรรมดีไอพี เอสเอ็มอี อะคาเดมี่ (DIP SME Academy) และระบบการเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสริมสร้างความรู้และพัฒนาศักยภาพให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่สามารถนำความรู้ที่ได้จากหลักสูตรมาประยุกต์และใช้เป็นแนวทางในการกำหนดแผนและเป้าหมายทางธุรกิจ โดยตั้งเป้าปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 100,000 ราย และสามารถต่อยอดสู่การเป็นธุรกิจใหม่ (สตาร์ทอัพ) 2,000 ราย สร้างเงินหมุนในระบบกว่า 100 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย