สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 23 ม.ค.- “อภิสิทธิ์” นำทีมพรรคประชาธิปัตย์ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาลรัฐธรรมนูญ ตีความคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งรีเซ็ตสมาชิกพรรค ลิดรอนสิทธิสมาชิก เอื้อประโยชน์พรรคใหม่ ทำลายพรรคเก่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมแกนนำพรรค ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า คำสั่งดังกล่าวมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใหม่ บ่อนทำลายพรรคการเมืองเดิมที่มีขนาดใหญ่ การให้สมาชิกพรรคต้องยืนยันความเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรค ภายใน 30 วัน มีผลไม่ต่างจากการรีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมือง หรือเท่ากับบังคับให้สมาชิกพรรคการเมืองพ้นสมาชิกภาพทั้งหมด และต้องสมัครใหม่โดยปริยาย ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกพรรคได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังห้ามไม่ให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง ทำให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถสื่อสารกับสมาชิกพรรคโดยวิธีปกติในทางการเมืองได้ และคำสั่งดังกล่าวยังละเมิดสิทธิเสรีภาพของสมาชิกพรรค ที่เป็นประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการปฏิรูป รวมถึง คำสั่งดังกล่าวยังตราขึ้นโดยไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 และมาตรา 132 (2) การตรวจสอบความชอบรัฐธรรมนูญ
“ผมไม่มีเจตนาสร้างปัญหาทางการเมืองให้กับผู้ออกคำสั่งนี้ แต่ผมมีหน้าที่ที่จะปกป้องสิทธิของประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และผมต้องการเห็นการปฏิรูปการเมืองเดินหน้า การตรากฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่มีการใช้อำนาจบิดเบือน จนทำให้เกิดวิกฤตอย่างในปัจจุบัน ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขความเดือดร้อน สร้างภาระเกินแก่เหตุ จึงขอให้เสนอไปยังหน่วยงานรัฐแก้ไข ไม่ให้ก่อให้เกิดผลกระทบ และส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ หากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ และขอให้พิจารณาโดยเร่งด่วน เพราะความไม่เป็นธรรมจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ด้าน นายรักษ์เกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จะรายงานที่ให้ประชุมรับทราบถึงคำร้องดังกล่าว ว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อน หรือทำให้เกิดภาระที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ และหากมีปัญหาเรื่องความชอบของรัฐธรรมนูญ ก็อาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวชอบแล้ว ก็จะต้องชี้แจงให้ผู้ร้องรับทราบต่อไป
“มีความเป็นไปได้ที่จะมีนำเสนอ เพื่อพิจารณาไปพร้อมกับคำร้องของพรรคเพื่อไทยที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ ยืนยันว่า จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และขอให้ความมั่นใจว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ทำงานภายใต้แรงกดดันของใคร แต่ปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระตามข้อเท็จจริง” นายรักษ์เกชา กล่าว .- สำนักข่าวไทย