สำนักงาน กกต. 23 ม.ค.- “เรืองไกร” ร้อง กกต.ตรวจสอบ 3 รัฐมนตรี ถือหุ้นที่เป็นคู่สัญญากับสัมปทานรัฐ ขาดคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 60
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าเมื่อเวลา 10.00 น. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นร้องเรียนเพื่อให้ กกต.ตรวจสอบรัฐมนตรี 3 คน ที่มีการกระทำเข้าข่ายเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 วรรหนึ่ง (2) ประกอบมาตรา 160 (8) หรือไม่ ประกอบด้วย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เนื่องทั้ง 3 คน ถือหุ้นสัมปทานรัฐ หรือบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ เข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกัน ซึ่งต้องห้ามดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ของ ครม.ประยุทธ์ 5 พบว่า ม.ล.ปนัดดา ซึ่งเป็น 1 ใน 9 รัฐมนตรีที่ตนเคยยื่นร้องต่อ กกต.มาแล้ว และในการแสดงบัญชีทรัพย์สินครั้งนี้ ม.ล.ปนัดดา ยังคงแจ้งว่ามีหุ้นของ บริษัทท่าอากาศยานไทย (ทอท.)กว่า 6 พันหุ้น ซึ่งแม้จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ทีต้องยื่นให้ตรวจสอบเนื่องจากในรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติในลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติจะต้องเว้นวรรคการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปี ตามมาตรา 160 ประกอบ 187 ของรัฐธรรมนูญ
นายเรืองไกร กล่าวว่า ส่วนนายสุวิทย์ แม้จะเป็นรัฐมนตรีมา 3 รอบแล้ว แต่เพิ่งได้รับตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นครั้งแรก ซึ่งก็พบว่าถือหุ้นในบริษัท GPSC หรือบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 9 หมื่นหุ้น ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่รวมบริษัทโฮลดิ้ง ที่รวมบริษัทลูกของ ปตท. ซึ่งในเวปไซด์ GPSC ก็ได้มีการเปิดเผยหมายเหตุไว้ในการแสดงงบการเงินของบริษัทว่า บริษัทมีที่มาอย่างไร ทั้ง 30 บริษัทลูก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐอย่างชัดเจน ดังนั้นการที่นายสุวิทย์ ถือหุ้นบริษัทดังกล่าว จึงเข้าข่ายถือหุ้นบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐทั้งโดยตรงและทางอ้อม ซึ่งต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
นายเรืองไกร กล่าวว่า สำหรับนายไพรินทร์ และคู่สมรส ถือหุ้นที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐจำนวนมาก โดยถือหุ้นใน บมจ. GPSC 5 หมื่นหุ้น บมจ. IRPC 2 4.9 แสนหุ้น บมจ ปตท. 5 พันหุ้น บมจ. พีทีที โกลบอล เคมีคอล 6 หมื่นหุ้น บมจ.ไทยออย 4 หมื่นหุ้น บมจ. กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมมท์ 3 แสนหุ้น บมจ.บ้านปู พาวเวอร์ หมื่นหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้ง 2.6 หมื่นหุ้น
นายเรืองไกร กล่าวว่า อยากให้ กกต.รีบพิจารณาและส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยการตรวจสอบข้อมูลทำได้ไม่ยาก เพียงขอไปที่ตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นจึงไม่น่าจะล่าช้าเหมือนกับ 9 รัฐมนตรีและ 90 ส.ว. ที่ตนได้ร้องไปตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามแปลกใจที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังคงแต่งตั้งบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีคำวินิจฉัยวางบรรทัดฐานไว้แล้วกรณี 6 รัฐมนตรี .-สำนักข่าวไทย