กรุงเทพฯ 10. ต.ค. – กระทรวงพลังงานร่วมเป็นตัวกลางประสานแผนนำเข้าแอลเอ็นจีของ กฟผ.เชื่อมต่อท่อก๊าซของ ปตท.ลดการลงทุนซ้ำซ้อน กฟผ.อ้อนขอก่อสร้างเร็วขึ้นรองรับโรงไฟฟ้าทดแทนพระนครใต้หน่วยที่2 พร้อมเดินหน้าศึกษานำเข้าแอลเอ็นจีเองในภาคใต้
นายถาวร งามกนกวรรณ รองผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ประชุมเร่งรัดโครงการนำเข้าแอลเอ็นจีแบบคลังลอยน้ำ (FSRU) โดย กฟผ.ปริมาณ 5ล้านตัน/ปี ซึ่งเดิม กฟผ.เสนอว่าจะมีการต่อท่อก๊าซเชื่อมจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ซึ่งเป็นจุดรับก๊าซ FSRU ต่อท่อก๊าซมาใช้ยังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ อย่างไรก็ตาม เพื่อลดต้นทุนทางกระทรวงจึงให้ กฟผ.ใช้ท่อก๊าซของ ปตท. ตามหลักเกณฑ์เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้าใช้หรือ Third Party Access ซึ่ง กฟผ.ก็พร้อมทำตาม
“เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและตัดสินใจได้ในความร่วมมือนำเข้า LNG แบบ FSRU ทางกระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงานที่มีตัวแทน กฟผ., ปตท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มาร่วมทำงาน โดยงานนนี้รัฐบาลต้องการให้เกิดการแข่งขันและไม่เกิดปัญหาด้านความมมั่นคงในอนาคต จึงต้องการให้ กฟผ.เป็นผู้นำเข้าอีกรายหนึ่งนอกเหนือจาก ปตท.” นายถาวร กล่าว
ตามโครงการนี้ทางกระทรวงจะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งตามแผนของ กฟผ.คาดจะต้องลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท ศึกษา 4 เส้นทางวางท่อทางทะเลจาก FSRU ในอ่าวไทยมาขึ้นยังฝั่งและศึกษา 3 เส้นทางบนบก เพื่อต่อท่อมายังโรงไฟฟ้าพระนครใต้จังหวัดสมุทรปราการ โดยโรงไฟฟ้าพระนครใต้มีความต้องการใช้แอลเอ็นจีประมาณ 3 ล้านตัน/ปี ดังนั้น จึงต้องส่งอีก 2 ล้านตัน ไปโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ซึ่ง กพช.กำหนดให้นำเข้าภายในปี 2567 อย่างไรก็ตาม กฟผ.ขอเสนอให้นำเข้าได้ภายในปี 2565 เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าทดแทนหน่วยที่ 2 ของโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โดยการนำเข้าของ กฟผ.นั้นเกิดจากก๊าซในประเทศลดต่ำลงต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาทดแทนและรัฐบาลต้องการเห็นการแข่งขันการนำเข้า เพื่อให้ประชาชนได้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำที่สุด
นายถาวร กล่าวว่า กฟผ.พร้อมเดินหน้าลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพราะช่วยเสริมระบบความมั่นคงในภาคใต้และสามารถควบคุมดูแลด้านมลพิษได้ โดยใช้เทคโนโลยีระดับสูงสุด Ultra Super Critical มีเทคโนโลยีกำจัดของเสียและควบคุมคุณภาพอากาศ ได้แก่ การกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนหรือ NOX ด้วยเทคโนโลยี SCR ซึ่งใช้แอมโมเนียทำปฎิกริยากับก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ให้เปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซไนโตรเจนและน้ำ และขณะนี้ยังมั่นใจว่ารัฐบาลจะเห็นชอบให้ก่อสร้าง เพราะตามข้อเท็จจริงชุมชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็สนับสนุน แต่หากก่อสร้างไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องมีโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ทดแทน ซึ่ง กฟผ.ได้ศึกษาแผนนำเข้าแอลเอ็นจี เข้ามาใช้ในรูปแบบ FSRU ทั้งเพื่อใช้ทั้งโรงไฟฟ้าใหม่และโรงไฟฟ้าปัจจุบันทั้งโรงไฟฟ้าจะนะและโรงไฟฟ้าขนอมที่จะได้รับผลกระทบจากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยและโครงการเจดีเอลดลงในอนาคต
“โรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถควบคุมมลพิษได้ และหากไปดูตามแผนพีดีพี 2015 (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี2558-2579) ในแผนมีความชัดเจนว่าจะกระจายเชื้อเพลิงและลดภาวะโลกร้อนจากโรงไฟฟ้าการปลดปล่อย CO2 จาก 0.5kg/ หน่วย เหลือ 0.3 kg/ หน่วย ที่สำคัญโรงไฟฟ้าถ่านหินยังมีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้าแอลเอ็นจี เมื่อเป็นอย่างนี้ก็อยากถามเอ็นจีโอผู้ต่อต้านว่าห่วงอะไรหรือเป็นตัวถ่วงกันแน่” นายถาวร กล่าว.-สำนักข่าวไทย