กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 3 ม.ค.- ศปถ.สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนเทศกาลปีใหม่ 2561 ประจำวันที่ 3 ม.ค.2561 เกิดอุบัติเหตุ 400 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 51 ราย บาดเจ็บ431คน รวม 6 วัน เกิดอุบัติเหตุ 3,456 ครั้ง เสียชีวิต 375 ราย บาดเจ็บ 3,612 คน เมาแล้วขับเป็นสาเหตุหลักเกิดอุบัติเหตุ
พล.ต.สมศักดิ์ สมรักษ์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 (ศปถ.) เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 3 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 400 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 51 ราย ผู้บาดเจ็บ 431 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 40.25 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 28.50 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.76 รถปิคอัพ 8.19 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.25 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 43.75 ถนนใน อบต. หมู่บ้าน ร้อยละ 32.25 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี และ สงขลา 15 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุพรรณบุรี บุรีรัมย์ นครราชสีมา และนนทบุรี 3 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 17 คน
พล.ต.สมศักดิ์ กล่าวว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2560 – 2 มกราคม 2561 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,456 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 375 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,612 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือ ตายเป็นศูนย์ มี 8 จังหวัด ได้แก่ ยะลา,ระนอง,หนองบัวลำภู,นครนายก,ตรัง,ชัยนาท,นราธิวาส,น่าน ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 120 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 15 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 124 คน ขณะที่การจัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,003 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,112 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 811,773 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 140,714 ราย ในความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 42,131 ราย ไม่มีใบขับขี่ 38,210 ราย
ด้านพล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ่มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 กล่าวว่า จะการคุมเข้มตั้งด่านตรวจวัดปริมาณแอลกฮอล์ช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่ามีสถิติผู้กระทำผิดเมาแล้วขับเพิ่มขั้นจากปี 2560 มีผู้กระทำผิด 168,399 ราย และในปี 2561 จำนวน 216,895 รายหรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.8 ทั้งนี้หลังสรุปจะสถิติภาพรวมจะประชุมหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อถอดบทเรียนว่าจากสถิติที่เพิ่มนั้น มีข้อบกพร่องอย่างไร เช่น ความไม่มีประสิทธิภาพ หรือความหย่อนยานของข้อกฎหมายหรือไม่ เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่จะมีเวลาอีก 3 เดือน.-สำนักข่าวไทย