นนทบุรี 20 ธ.ค. – อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อหลังสหรัฐปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย เพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างประเทศ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า การที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ โดยสามารถสร้างความเชื่อมั่นในระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้แก่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งไม่จำกัดแต่เพียงประเทศสหรัฐเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจและโอกาสการลงทุนของนักลงทุนจากประเทศอื่น ๆ ที่มองเห็นศักยภาพของประเทศไทยด้วย
สำหรับประเด็นสำคัญที่สหรัฐแสดงความพอใจและนำมาสู่การปรับสถานะดังกล่าว เกิดจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการกำหนดเป็นนโยบายประดับประเทศที่ชัดเจน โดยผู้นำระดับสูงของประเทศให้ความสำคัญส่งผลให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังจนเห็นผลเป็นรูปธรรม 2.การพัฒนาการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า เช่น การเพิ่มผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าจำนวนมาก ทำให้การจดทะเบียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3.การเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ และ 4.การเสริมสร้างความโปร่งใส โดยเปิดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวจะไม่กระทบขอบเขตการคุ้มครองหรือมาตรฐานการตรวจสอบสิทธิบัตรแต่อย่างใด เช่น กำหนดระยะเวลาการประกาศโฆษณาคำจดทะเบียนภายใน 18 เดือนนับแต่วันยื่นคำขอในไทย การลดระยะเวลาการขอให้ตรวจสอบจาก 5 ปีนับแต่วันประกาศโฆษณา เป็น 3 ปีนับแต่วันยื่นคำขอในไทย กำหนดให้คัดค้านได้เมื่อตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้วแต่ก่อนออกสิทธิบัตร เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นการแก้ไขบทบัญญัติ เรื่องการบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรเพื่อรองรับพันธกรณี Doha Declaration on TRIPS and Public Health อีกด้วย ซึ่งการปรับสถานะของไทยดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญผลักดันและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และที่สำคัญช่วยส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อนตามนโยบาย Thailand 4.0 .-สำนักข่าวไทย