สำนักงานกกต. 12 ธ.ค.-สมชัยเผยทำหนังสือถึงประธานกกต.ทักท้วงศาลฎีกาลงมติลับเลือกกกต.ใหม่ ชี้ขัดพ.ร.ป.กกต.ที่บัญญัติให้ลงคะแนนเปิดเผย ย้ำไม่ใช่เรื่องเอาชนะหรือเสียหน้า
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือในนามส่วนตัวถึงนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ขอให้พิจารณาเรื่องการคัดเลือกกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในส่วนการคัดเลือกตัวแทนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามาเป็น กกต. เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการลงมติคัดเลือกบุคคลมาทำหน้าที่เป็นกกต.จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาทั้งในวันที่ 17 พฤศจิกายนและวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ใช้วิธีคัดเลือกด้วยการลงคะแนนลับ ซึ่งขัดกับบทบัญญัติมาตรา 12 วรรคสามของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยกกต. ที่ระบุว่า “ในการสรรหาหรือคัดเลือกให้ใช้วิธีลงคะนนโดยเปิดเผยและให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย”
“ตามมาตรา 7 ประธานกกต.ในฐานะที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายนี้ ควรทักท้วงไปยังประธานศาลฎีกา เพื่อขอคำชี้แจงและหากเป็นจริง ขอให้นัดลงมติคัดเลือกใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป ซึ่งประธานกกต.จะต้องพิจารณาเองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ ผมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าเห็นว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็ต้องแจ้งให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องแก้ไข สมมติว่าผมเป็นยามเฝ้าหมู่บ้านแล้วมีโจรกรรมเกิดขึ้น ต้องไปแจ้งหัวหน้ารปภ.ของหมู่บ้าน ส่วนหัวหน้ารปภ.จะดำเนินการอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า คาดว่าจะนำเรื่องกระบวนการสรรหาเข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันที่ 14 ธันวาคมนี้ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าให้เป็นเรื่องของสนช.พิจารณา หากเห็นว่ากระบวนการคัดเลือกเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็อย่ารับรอง 2 รายชื่อดังกล่าว แต่คิดว่าการคิดเช่นนั้นจะทำให้คนที่ผ่านการคัดเลือกเสียสิทธิ และเป็นการจำกัดสิทธิผู้ได้รับการคัดเลือก เพราะหากสนช.ลงมติไม่รับรองก็ต้องส่งคืนกลับไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และชื่อที่ไม่ผ่านลงมติรับรองจะไม่สามารถกลับเข้ามาสมัครใหม่ได้ จึงเห็นว่าควรจะทบทวนในขั้นตอนการลงมติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ให้เป็นที่ครหา ซึ่งฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรไตร่ตรองให้ดีและคลี่คลายสถานการณ์หาทางออกที่ดีที่สุด
“ไม่ใช่เรื่องการเอาชนะ เรื่องความถูก-ผิด หรือการเสียหน้า หากแก้ไขให้ถูกต้องก่อนเสนอสนช.น่าจะเป็นเรื่องดี อีกทั้งในอนาคตจะยังต้องคัดเลือกตัวแทนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไปดำรงตำแหน่งอื่น ๆ อีก ซึ่งต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน หากยังใช้แบบนี้ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานในครั้งอื่น ๆ ด้วย แล้วการคัดเลือกจะตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่อยากจะให้ได้คนดีเข้ามาทำหน้าที่ได้อย่างไร” นายสมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย
