กรุงเทพฯ 12 ธ.ค. – แอร์เอเชีย
หนุนมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง และเตรียมเสนอ ก.คมนาคม-ท่องเที่ยว
เสนอให้พัฒนา/ทำสนามบินใหม่ พรุ่งนี้ พร้อมเปิดเส้นทางบินใหม่ตาม
หวังช่วยกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง กระจายรายได้ ระบุ ปีนี้ผลการดำเนินงานเป็นบวก
ปีหน้าขยายเส้นทางบินใหม่
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า
เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง
ด้วยการลดหย่อนภาษีสำหรับการท่องเที่ยวเมืองรอง
เพราะจะทำให้เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น
และกระจายรายได้ไปยังท้องถิ่นมากขึ้น
ซึ่งไทยแอร์เอเชียพร้อมสนับสนุนเปิดเส้นทางบินรองรับการท่องเที่ยวเมืองรองอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้
จะหารือกับกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
เพื่อเสนอให้เข้ามาพัฒนาสนามบินเดิมที่มีขนาดเล็กในจังหวังเมืองรอง
หรือก่อสร้างสนามบินใหม่
เพื่อรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวในเมืองรองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสนามบิน อ.แม่สอด
จ.ตาก และสนามบินจ.แม่ฮ่องสอน และจ.อื่นๆ ที่มีศักยภาพ ซึ่งหากรัฐบาลร่วมกันพัฒนาสนามบินให้เครื่องบินขนาดใหญ่ลงได้
ไทยแอร์เอเชียพร้อมจะเปิดเส้นทางบินใหม่ตามด้วยเช่นกัน
เนื่องจากเห็นว่าไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดเด่นๆ
อีกหลายแห่งควรจะมีการกระจายรายได้ให้กับจังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพด้วย
ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง
ไทยแอร์เอเชียจึงเปิดเส้นทางเมืองรองใหม่ ดอนเมือง-ระนอง วันละ 2 เที่ยวบิน
โดยจะเปิดให้บริการครั้งแรก 16 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป
ซึ่งเชื่อว่าเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ เพราะมีนักท่องเที่ยวเดินทางสูง
ส่งผลให้ไทยแอร์เอเชียมีเส้นทางบินในประเทศ 35 เส้นทาง และต่างประเทศกว่า 40
เส้นทาง รวม 404 เที่ยวบิน โดยปีนี้คาดการณ์มีจำนวนผู้โดยสารทั้งหมด 19.7 ล้านคน
เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ที่ 19.5 ล้านคน
ซึ่งมีจำนวนอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 86.87% โดยยืนยันปีนี้มีกำไรแน่นอน
แม้ว่าราคาน้ำมันในปีนี้จะสูงขึ้นจากปีก่อน
ที่ทำให้ต้นทุนด้านราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 20% ก็ตาม
ส่วนปีหน้าคาดการณ์ว่า
จะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 22 ล้านคน
และจำนวนอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 84% โดยจะเน้นขยายเส้นทางบินในประเทศ
จากภูมิภาคข้ามภูมิภาค และเมืองรอง พร้อมเปิดเส้นทางบินใน CLMV และอินเดีย
ซึ่งไทยแอร์เอเชียจะมีการรับมอบเครื่องบินใหม่อีก 7 ลำ
โดยมองว่าการแข่งขันของสายการบินต้นทุนต่ำในปีหน้าจะไม่รุนแรงกว่าปีนี้
แต่ราคาจะขยับสูงขึ้นอย่างน้อย 2-3% จากปีนี้ที่สูงขึ้นมาแล้ว 3%
อย่างไรก็ตามในปีหน้าอาจจะมีบางสายการบินปิดกิจการหรือลดจำนวนเที่ยวบินลง
เนื่องจากประสบปัญหา แต่เชื่อว่าไม่มีรายใหม่ๆ เข้าแข่งขันเพิ่มขึ้น. – สำนักข่าวไทย