กรุงเทพฯ 19 เม.ย. – สายการบินในประเทศตบเท้าขอพบ รมว.คลังพรุ่งนี้ ร้องจัดหา soft Loan จ่ายเงินเดือน หลังจากร่วมมือรัฐไม่ปลดพนักงาน 30,000-50,000 คน พร้อมขอให้รัฐสร้างความชัดเจนเปิดบินเดือน พ.ค. ด้าน กพท.ระบุกรณีไทยไลอ้อนแอร์เลิกจ้างพนักงานใหม่ 120 คน เป็นการบริหารจัดการภายใน
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยถึงปัญหาที่สายการบินในประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ว่า ผลกระทบดังกล่าวทำให้สายการบินต้องหยุดทำการบินทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว โดยวันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.) ผู้ประกอบการสายการบินจะขอเข้าพบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อติดตามมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา 8 สายการบินในประเทศได้ทำหนังสือขอให้ภาครัฐช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan เพื่อนำเงินกู้นี้ไปจ่ายเงินเดือนพนักงาน และวันที่ 22 เมษายนนี้ สายการบินทั้ง 8 แห่งจะประชุมหารือร่วมกัน เพื่อออกแถลงการณ์มาตรการที่จะปฏิบัติต่อไปในอนาคต
“ขณะนี้สายการบินทุกแห่งพยายามต่อสู้และดำเนินการตามที่ภาครัฐขอความช่วยเหลือ คือ ขอให้ไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งอุตสาหกรรมการบินทั้งหมดประมาณ 30,000-50,000 คน สายการบินหวังว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือหาแหล่งเงินกู้ ทำให้การจ่ายเงินเดือนพนักงานในช่วงที่ต้องหยุดวันนี้การบินสามารถทำตามเป้าหมายและอยู่รอดได้” นายธรรศพลฐ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นที่ผู้ประกอบการสายการบินอยากให้ภาครัฐรีบสร้างความชัดเจนเรื่องทำการบินเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์ข้างหน้า เพราะหลายสายการบินรวมถึงไทยแอร์เอเชียมีแผนจะทำการบินเส้นทางในประเทศบางเส้นทาง 1 พฤษภาคมนี้ สถานการณ์ปัจจุบันยอมรับว่าการที่หลายจังหวัดท่องเที่ยวยังมีการล็อคดาวน์ห้ามเดินทางเข้าจังหวัด การบินไปยังจังหวัดเหล่านี้ แต่นักท่องเที่ยวไม่สามารถออกจากสนามบินไปท่องเที่ยวได้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ที่จะทำการบินไป ซึ่งภาครัฐต้องมีความชัดเจนเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติและประกาศออกมาด่วน ผู้ประกอบการสายการบินจะได้ใช้ตัดสินใจได้
ทั้งนี้ นายธรรศพลฐ์ยังกล่าวถึงการที่ผู้ประกอบการสายการบินในประเทศต้องการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวมกว่า 24,000 -25,000 ล้านบาทว่าภาครัฐเตรียมออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งขั้นตอนของการออก พ.ร.ก.ฯ นั้น เห็นว่าต้องทำเร่งด่วน จะใช้ขั้นตอนตามกฎหมายปกติไม่ได้ เพราะความเสียหายที่เกิดจากโควิด-19 ไม่ได้เป็นปัญหาปกติที่เคยเกิดขึ้น หากการเยียวยาล่าช้าความเสียหายก็จะเพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งนี้ ยังมั่นใจว่าการจัดหาแหล่งเงินกู้นั้น เครดิตของประเทศไทยยังอยู่ในฐานะที่ดี เพดานหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ แหล่งเงินกู้จากต่างประเทศที่ขณะนี้มีสภาพคล่องเหลืออยู่ ขณะเดียวกันเงินทุนสำรองฯ ระหว่างประเทศของไทยก็ยังมีเหลือเพียงพอ โดยภาครัฐสามารถใช้มาตรการกู้เงินของตนเอง เพื่อนำเงินเหล่านี้ออกมากู้วิกฤติก็ยังทำได้
“ผลกระทบที่ผู้ประกอบการรายใหญ่จนถึงรายย่อยได้รับจากวิกฤติโควิด-19 มีทุกภาคส่วน อย่างธุรกิจสายการบินนี่ก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องเร่งฟื้นตัวโดยเร็ว เพราะจะเป็นด่านแรกช่วยนำนักท่องเที่ยวและทำให้การท่องเที่ยวเกิดเงินหมุนเวียนสะพัดไปยังธุรกิจต่อเนื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวทั้งหมด หากผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ สุดท้ายการเดินทางเข้าจากต่างประเทศ และการเดินทางระหว่างจังหวัด ก็ไม่มีคนทำมูลค่าความเสียหายต่อการท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ ก็จะเป็นเรื่องที่แก้ยาก” นายธรรศพลฐ์ กล่าว
ส่วนประเด็นมีรายงานข่าวสายการบินไทยไลออนแอร์เลิกจ้างพนักงานนั้น ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากฝ่ายบริหารไทยไลออนแอร์ ยอมรับว่ามีการเลิกจ้างพนักงานจริง แต่เป็นพนักงานที่มีอายุงานไม่ถึง 1 ปี ประมาณ 120 ราย โดยไม่ใช่การเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด และสายการบินจะมีการชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างตามกฎหมาย โดยอาจต้องใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาชดเชยให้กับพนักงานโดยยอมรับว่าผลกระทบดังกล่าวมาจากการที่สายการบินต้องหยุดบินจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อรายได้บริษัท
อย่างไรก็ตาม สายการบินไทยไลอ้อนแอร์เตรียมแผนลดรายจ่าย โดยให้พนักงานหยุดงานไม่รับเงินเดือนและลาออกจากงานโดยสมัครใจ คาดว่าจะมีผลประมาณ 1 พฤษภาคมนี้ โดยจะมีการประเมินจำนวนพนักงานอีกครั้งปลายเดือนนี้ ขณะเดียวกันเตรียมแผนคืนเครื่องบิน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 34 ลำ ออกไปบางส่วน เพื่อลดรายจ่าย รวมทั้งเตรียมแผนการกลับมาทำการบินเส้นทางในประเทศบางเส้นทางในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะทยอยเปิดบินเส้นทางระหว่างประเทศบางเส้นทางต่อไปด้วย
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า จากปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการบิน แม้ว่าล่าสุดสายการบินที่ให้บริการในประเทศกว่า 8 สายการบินได้แสดงความต้องการที่จะให้ภาครัฐ โดยกระทรวงการคลังหาแหล่งเงินกู้รวมกว่า 25,000 ล้านบาท เพื่อมาพยุงสถานะทางการเงินก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีสายการบินใดที่แสดงเจตจำนงแจ้งมายัง กพท. ว่าจะปิดกิจการ นอกจากการแจ้งขอหยุดทำการบินชั่วคราวเท่านั้น
ส่วนกรณีที่มีสายการบินในประเทศบางสายการบินได้มีการปลดพนักงาน เนื่องจากประสบปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ถือเป็นการบริหารภายในของแต่ละสายการบินไม่จำเป็นที่จะต้องแจ้งหรือรายงาน กพท. นอกจากกรณีต้องมีการปิดบริการ เปิดบริการ หรือหยุดทำการบิน เท่านั้น.-สำนักข่าวไทย