อยุธยา 1 ธ.ค.-มีความพยายามจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ต้องการให้การบริหารเงินวัดมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ด้วยการนำระบบบัญชีแบบใหม่ที่ต้องแยกรายการบัญชีการเงินอย่างละเอียดมาใช้กับวัดทั่วประเทศในปีหน้านี้ แต่ก็มีข้อสังเกตของนักวิชาการที่ศึกษาการบริหารการเงินวัดว่าวัดในไทยมีหลายระดับ วัดเล็ก วัดใหญ่ ซึ่งบัญชีการเงินแบบใหม่อาจเป็นการเพิ่มภาระให้วัดมากขึ้น
ยอดเงินบริจาคงานกฐิน 105,000 บาท เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นเงินบริจาคที่มากที่สุดในรอบปีของวัดบ้านแจ้ง จ.พระนครอยุธยา และถูกบันทึกไว้ในสมุดบัญชีของวัดที่มีเพียง 1 เล่ม ตามแบบของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมุดเล่มนี้บันทึกมาตั้งแต่ปี 58 วัดนี้เป็นวัดขนาดเล็กมีพระภิกษุ 4 รูป เงินบริจาคบางส่วนจะใช้ค่าน้ำค่าไฟและค่าบูรณะหลังคาศาลาวัดที่มีสภาพทรุดโทรม นานๆ ครั้งจะมีผู้เข้ามาทำบุญ ตู้เงินบริจาคถูกล็อกกุญแจและจะเปิดออกเพียงปีละครั้ง
เจ้าอาวาสวัดบ้านแจ้งบอกว่า บางวันวัดแทบไม่มีรายรับ บางเดือนมีรายรับเพียงไม่กี่หมื่นบาท แต่ก็ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่าย รายการที่กรอกส่วนใหญ่เป็นค่าสาธารณูปโภค พอสิ้นเดือนต้องรายงานบัญชีไปยังเจ้าคณะตำบล ส่วนสมุดใบอนุโมทนาบัตรที่มีเตรียมไว้สำหรับออกให้ผู้บริจาคยังอยู่เต็มเล่ม ไม่มียอดบริจาค ในปีหน้าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะกำหนดให้ทุกวัดทั่วประเทศต้องทำบัญชีการเงินให้เป็นระบบใน 6 ประเภท เช่น การแยกรายรับ รายจ่าย ซึ่งวัดบ้านแจ้งอาจต้องมีภาระเพิ่ม เพราะบัญชีมีความซับซ้อน และต้องทำมากกว่า 1 เล่ม
ผู้ศึกษาวิจัยการบริหารการเงินของวัดในประเทศไทยระบุว่า ในอดีตวัดส่วนมากยังไม่มีโครงสร้างการบริหารการเงินอย่างเป็นระบบ จึงมีการให้แต่ละวัดเริ่มทำบญชีอย่างง่าย ในลักษณะบัญชีครัวเรือน บันทึกรายรับรายจ่ายในเล่มเดียวกัน ตามมติของมหาเถรสมาคม แต่วัดในไทยมีหลายระดับ มีรายรับที่มากและน้อยแตกต่างกัน จึงมีผลต่อความสามารถในการบริหารบัญชี บัญชีวัดแต่ละวัด ยังมีรูปแบบแตกต่างกัน ทั้งหน้าปกและรูปแบบภายใน ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ผอ.สำนักงานศาสนสมบัติ สำนักงานพระพุทธ บอกว่า การกรอกบัญชีการเงินวัดต้องเป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการจัดการ แยกรายรับรายจ่ายชัดเจน เป็นการวางระบบให้โปร่งใสและเป็นเกราะป้องกัน หากทุจริตจะมีหลักฐาน แม้อาจเป็นการเพิ่มภาระและอาจมีปัญหากับวัดขนาดเล็กและวัดที่อยู่ห่างไกลเมือง ที่มีกว่าร้อยละ 60 ของวัดทั้งหมด จึงต้องมีการอบรมและจัดทำคู่มือการทำบัญชีการเงินรูปแบบใหม่ให้แก่พระสังฆาธิการ และพยายามดึงชุมชนรอบวัด เช่น ผู้มีความรู้ทางบัญชี เข้ามามีส่วนร่วม
มีข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพบว่า แม้การทำบัญชีการเงินรูปแบบใหม่ที่จะรณรงค์ใช้กับวัดในปีหน้า ซึ่งจะสามารถตรวจสอบและจัดระเบียบเงินบริจาควัดได้มากขึ้น แต่เพียงการจัดทำบัญชีอย่างง่ายของวัดที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2511 ซึ่งมีเพียงการแยกรายรับและรายจ่าย ก็มีวัดจำนวนน้อยมากที่จัดทำบัญชีการเงินได้ตามเป้าหมาย เช่น ตัวเลขเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากวัดกว่า 40,000 วัดทั่วประเทศ มีวัดที่รายงานบัญชีการเงินเพียงประมาณ 27,000 วัด และมีบางจังหวัด เช่น วัดในเชียงราย ที่มีทั้งหมดกว่า 1,000 วัด ส่งรายงานบัญชีการเงินเพียง 300 วัด ซึ่งหากมีการจัดทำบัญชีรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น วัดจะปฏิบัติตามการจัดระเบียบนี้ได้มากน้อยเพียงใด.-สำนักข่าวไทย