กรุงเทพฯ 28 พ.ย. – จุฬาลงกรณ์เริ่มระบบนำร่องโครงการแบ่งปันรถกันด้วยยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก 1 ธ.ค.2560 เป็นเวลา2 ปี ค่าแรกเข้า 100 บาท ค่าบริการ 20 นาทีแรก 30 บาท
โครงการแบ่งปันรถกันใช้ (car sharing) ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Ultra-Compact EV) เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโตโยต้า รวมทั้งองค์กรพันธมิตร ร่วมกันดำเนินโครงการนำร่องให้บริการในพื้นที่ จุฬาฯ เป็นเวลา 2 ปี เริ่ม 1 ธ.ค.นี้ โดยเปิดรับสมัครทั้งนักศึกษา อาจารย์ ประชาชนทั่วไป ผ่านเว็บไซต์ www.cutoyotahamo.com เปิดให้บริการทุกจันทร์ – ศุกร์ เวลา 07.00 – 19.00น. ค่าสมัครแรกเข้า100 บาท ค่าบริการเริ่มต้น 30 บาท/ครั้ง ต่อการใช้รถ 20 นาที หลังจากนั้นคิดค่าบริการนาทีละ 2 บาท ชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิตหรือเดบิต ขั้นตอนใช้บริการ download Application พิมพ์คำว่า CU TOYOTA Ha:mo และทำการจองใช้ ก่อนใช้งานจริง 30 นาที เบื้องต้นจะมีรถให้บริการ10 คัน และเพิ่มเป็น 30 คันในกลางปี 2561 โดยใช้งบดำเนินโครงการ ทั้งมูลค่ารถอีวีนำเข้าจากญี่ปุ่นและระบบควบคุมต่างๆ ราว 50 ล้านบาท
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้สมัครแล้วกว่า 100 ราย คาดจนถึง 1 ธันวาคม จะมีไม่ต่ำกว่า 200 ราย โครงการนี้เกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 100 ปี การสถาปนาจุฬาฯและในโอกาสครบรอบการก่อตั้งโตโยต้าในไทยครบ 55 ปี นับได้ว่า กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นตลาดเกิดใหม่แห่งแรกที่โตโยต้านำนวัตกรรมนี้มาใช้
ทั้งนี้ ระบบ Ha:mo เกิดขึ้นใน4 เมืองญี่ปุ่น คือ โตโยต้าซิตี้ โอกายาม่า โตเกียว โอกินาวา และมีให้บริการที่ เมืองเกรโนเบิล ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งช่วยบริการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะจากรถไฟฟ้าจากต้นทางไปยังจุดหมายปลายทางของผู้ใช้งาน ด้วยเครือข่ายเทคโนโลยี (Internet of Things)
“จุฬาฯนับเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีการแบ่งปันรถกันใช้ ขณะ ม.ขอนแก่น และศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะให้ความสนใจ ซึ่งจะเป็นโมเดลทางธุรกิจที่ต้องไปติดต่อไปโดยตัวรถ มีราคา 8 แสนเยน หากรวมกับค่าระบบควบคุมรถยนต์แล้วจะรวมประมาณ 1.2 ล้านเยน หรือ 3.6 แสนบาท ซึ่งโตโยต้ายังไม่มีแผนนำเข้ามาขาย โดยรถนั้นนั่งได้คนเดียว จากการสำรวจหลายคนอยากให้นั่งได้มากกว่านี้ ซึ่งคงต้องพิจารณากันต่อไป” นายนินนาท กล่าว. – สำนักข่าวไทย