กรุงเทพฯ 27 พ.ย. – นักวิชาการ ม.รังสิตคาดเศรษฐกิจปี 61 โตต่อเนื่องร้อยละ 4.1-4.7 ส่งออกโตร้อยละ 6-8
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 ส่วนปี 2561 เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 – 4.7 โดยการขยายตัวยังคงกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน กระจุกตัวในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบริษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
ด้านการส่งออกปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6-7 ส่วนปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6-8 ดุลการค้ายังคงเกินดุลต่อเนื่องที่ระดับ 20,000 – 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทิศทางค่าเงินบาทปีหน้าอาจจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2560 โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 33.50 ถึง 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้จะอยู่ในช่วง 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนปีหน้าจะอยู่ที่ 55-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ภาวะเงินเฟ้อจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1 – 1.5
สำหรับปีหน้า การลงทุนภาคเอกชนน่าจะขยายตัวร้อยละ 3-4 ทำให้การลงทุนภาพรวมอาจเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8 ส่วนการลงทุนภาครัฐนั้น น่าจะกลับมาขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักได้ คาดว่า การบริโภคเอกชนจะขยายตัวระดับร้อยละ 3 การลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยไม่ได้ส่งผลให้ภาคการบริโภคเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะมีการชะลอการสร้างหนี้มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในปีหน้า ส่งผลให้การก่อหนี้เพื่อการบริโภคต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปัจจัยที่กดดันภาคบริโภคปีหน้าคือ ค่าจ้างนอกภาคเกษตรที่ยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังคงซบเซา ขณะที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดเพิ่มขึ้นในการปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภค การฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ยังไม่กระจายตัวทั่วถึงมายังวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์และสิ่งทอเป็นต้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจไทยปีหน้า ด้านปัจจัยภายนอกจะต้องจับตาการจัดการด้านงบประมาณและเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกาผลกระทบของ QE Exit และ Brexit สถานการณ์ความขัดแย้งทางการทหารในคาบสมุทรเกาหลีผลกระทบต่อภาคส่งออกจากแผนการลดการขาดดุลการค้าของรัฐบาลสหรัฐและการเจรจาทบทวนข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ผลกระทบจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตของจีนและปัญหาหนี้สินของระบบธนาคารและภาคธุรกิจของจีน
ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ การปรับตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของกลุ่มฐานรากที่ยังอ่อนแอราคาสินค้าเกษตรที่ยังต่ำ ความล่าช้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานบางธุรกิจอุตสาหกรรมและค่าจ้างยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่การจ้างงานหดตัวบางสาขา ผลกระทบจากน้ำท่วมช่วงที่ผ่านมาและความเสี่ยงสุดท้าย คือ ประเทศไทยสามารถกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อยได้ตามกรอบเวลาหรือไม่ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนอยู่
สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมของไทย อุตสาหกรรมดาวรุ่งและมีแนวโน้มสดใสปีหน้าได้แก่ อุตสาหกรรมค้าปลีก อี-คอมเมิร์ซ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีจำนวนเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 กิจการที่ทำธุรกิจแบ่งปันทรัพย์ ธุรกิจอุตสาหกรรมภาคก่อสร้าง อุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์และนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจฟินเทคและนวัตกรรมการเงิน อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกและปิโตรเคมี อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกและพลังงานชีวภาพ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ
ส่วนธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขาลง ได้แก่ ธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอและเคเบิลทีวี อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ธุรกิจและอุตสาหกรรมโฆษณา อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อุตสาหกรรมเซรามิก.- สำนักข่าวไทย