กรมสุขภาพจิต 12 พ.ย. – กรมสุขภาพจิต ชี้พวกชอบ “โชว์ของลับ” ในที่สาธารณะ เป็นคนป่วย แนะวิธีสยบพฤติกรรม เห็นแล้ว “อย่ากรี๊ด”
กรมสุขภาพจิต เผยผู้ชายที่ชอบโชว์ของลับอวดสาว คนแปลกหน้า เป็นผู้ป่วยทางจิตเวช มักจะพบในกลุ่มอายุ 15-25 ปี สาเหตุเกิดจากความผิดปกติในสมอง ความรู้สึกปมด้อยเรื่องเพศตัวเอง พบผู้มีปัญหาเข้ารับการรักษาน้อยเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น แนะผู้ที่เป็นให้รีบพบจิตแพทย์ ชี้โรคนี้รักษาได้ อย่าอายหมอ ระบุหากไม่รักษาจะมีพฤติกรรมติดตัวไปตลอดชีวิต พร้อมแนะวิธีการสยบพฤติกรรมโชว์ หากประชาชนโดยเฉพาะสาวๆพบเห็น อย่ากรีดร้องหรือแสดงอาการตกใจกลัว เพราะยิ่งเพิ่มความสุข เพิ่มความมั่นใจทางเพศ ขอให้นิ่งเฉย จะช่วยลดพฤติกรรมโชว์ได้
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาที่มีผู้ชายชอบลักขโมยชุดชั้นในผู้หญิงหรือโชว์อวัยวะเพศในที่สาธารณะ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่เนืองๆ ว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมเหล่านี้จัดเป็นผู้ป่วยโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งเรียกรวมๆ ว่า กามวิปริต ( Sexual perversion) มักเกิดกับเพศชาย พบได้บ่อยที่สุดในช่วงอายุ 15-25 ปี ไม่สามารถประมาณการผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ชัดเจน แต่มีการศึกษาพบว่าร้อยละ 20 ของหญิงสาว จะมีประสบการณ์เจอผู้ที่มีปัญหากามวิปริตมาแล้ว ขณะที่ผู้ชายที่มีปัญหานี้ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมกามวิปริต 3-5 อย่าง เช่น โชว์อวัยวะเพศ โทรศัพท์ลามกอนาจาร พฤติกรรมถ้ำมองคนอื่นในห้องน้ำ เป็นต้น
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า สาเหตุของพฤติกรรมนี้เชื่อว่าเกิดมาจากปริมาณฮอร์โมนเพศชายมีมากกว่าปกติ และอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติในสมอง รวมทั้งเกิดมาจากปัจจัยทางจิตใจ ที่สำคัญคือปมด้อย (inferiority) ในเรื่องเพศของตนเอง เช่นเรื่องขนาด การมีเพศสัมพันธ์ ทำให้ไม่มีความมั่นใจหรือไม่มีความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์ เมื่อมีแรงขับทางเพศเกิดขึ้น จึงเลือกระบายออกโดยโชว์อวัยวะเพศต่อผู้อื่น เพื่อสร้างความมั่นใจในระดับจิตใต้สำนึก เมื่อคนที่เห็นแสดงอาการตกใจ กรีดร้อง จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจทางเพศให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้
“อาการของกามวิปริตนี้ รักษาให้หายขาดได้ ผู้ที่มีญาติป่วยหรือมีเพื่อนฝูงคนรู้จักป่วยเป็นโรคนี้ สามารถพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่ง อย่าอายหมอ เพราะหากไม่ได้รับรักษา ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมนี้ไปตลอดชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่เป็นโรคกามวิปริตเข้ารับการรักษาน้อยมาก เพียง 1 ใน 4 หรือประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วย แสดงว่าในสังคมยังมีผู้ป่วยโรคนี้อีกร้อยละ 75 ที่ยังไม่รับการรักษา ดังนั้นจึงขอแนะนำประชาชน หากพบเห็นผู้ที่มีพฤติกรรมโชว์อวัยวะเพศในที่สาธารณะ ขอให้ตั้งสติ ให้นิ่งเฉย ไม่ควรแสดงอาการตกใจ หวาดกลัว กรีดร้อง โดยปฏิกิริยาของการนิ่งเช่นนี้ จะมีผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถสร้างความสุขทางเพศหรือเพิ่มความมั่นใจทางเพศของตนเองได้ และหากผู้ป่วยขาดแรงเสริมจูงใจบ่อยๆ จะมีผลให้พฤติกรรมชอบโชว์ลดลงได้ ” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
ด้านนายแพทย์ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า โรคกามวิปริตที่พบได้บ่อยๆ ในสังคมไทย เช่น โรคเอ็กซ์ฮิบิชั่นลิซึม ( Exhibitionism) ชอบอวดอวัยวะเพศกับคนแปลกหน้า โรคเฟติสชิซึม (Fetishism) คือ โรคสำเร็จความใคร่ด้วยสิ่งของของเพศตรงข้าม เช่น ชุดชั้นใน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว รองเท้าส้นสูง เป็นต้น โรคฟรอตตัวริซึม ( Frotteurism) เป็นโรคที่มีความสุขกับการถูไถอวัยวะเพศกับบุคคลแปลกหน้า โรคโวเยียวริซึม ( Voyeurism) เป็นโรคมีความสุขกับการถ้ำมองคนอื่นเปลือยกายหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า โรคโทรศัพท์ลามกอนาจารหรือที่เรียกว่า เทเลโฟน สแก็ตโตโลเจีย (Telephone Scatologia) เป็นต้น
“โดยเฉพาะผู้ที่ชอบโชว์อวัยวะเพศในที่สาธารณะ เมื่อมีคนเห็นและแสดงอาการตกใจ หวาดกลัว กรีดร้อง จะทำให้ผู้ป่วยประเภทนี้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น พึงพอใจทางเพศอย่างมาก และจะทำพฤติกรรมเช่นนี้บ่อยขึ้น โดยโรคนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ จึงควรพาผู้ป่วยไปปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ผู้ป่วยก็จะสามารถลดพฤติกรรมและใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป ” นายแพทย์ธิติพันธ์กล่าว
นายแพทย์ธิติพันธ์กล่าวต่อไปว่า การรักษาผู้ป่วยกามวิปริต หลักๆ จะมี 3 ด้าน ได้แก่ 1. การรักษาทางด้านจิตใจ เน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดและพฤติกรรม ให้ผู้ป่วยมองเห็นด้านบวกและชีวิตทางเพศของตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนความเชื่อผิดๆ ที่มักพบในกลุ่มผู้ชายไทย เช่นอวัยวะเพศใหญ่ให้ความสุขมากกว่าของเล็ก ต้องเป็นจอมลีลาเวลามีเพศสัมพันธ์ ต้องไม่ล่มปากอ่าว เป็นต้น 2.การรักษาทางด้านร่างกาย โดยเฉพาะการใช้ยารักษาฮอร์โมนเพศชายคือเทสโตสเตอโรน (Testosterone) ที่มีส่วนทำให้เกิดพฤติกรรมทางเพศ และ 3. การรักษาทางด้านสังคม ซึ่งกรอบ กฎระเบียบทางสังคม สามารถใช้ควบคุมพฤติกรรมชอบโชว์ทางอ้อมได้ เช่นเพื่อนฝูง คนในครอบครัว ช่วยกันลดโอกาสเกิดพฤติกรรม หากิจกรรมให้ทำแทนการคิดหมกมุ่นเรื่องเพศ ลดสิ่งกระตุ้นทางเพศ เช่น การดูสื่อลามกต่างๆ หรือการพูดคุยที่หมิ่นเหม่ต่อการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศในที่สาธารณะ.-สำนักข่าวไทย