ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ 11 พ.ย.- นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ระบุ 6 คำถามของนายกรัฐมนตรี เป็นการแสดงจุดยืนทางการเมือง เชื่อ เป็นไปได้ที่จะมีพรรคทหารในยุคนี้ แนะ พท.-ปชป.จับมือถ่วงคะแนนเสียงในสภาฯ ต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี
นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง การตั้งคำถาม 6 ข้อ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เป็นการตั้งคำถาม แต่เป็นการแสดงท่าที และจุดยืนต่อปรากฎการณ์ทางการเมือง รวมทั้ง ภาพในอนาคตมากกว่า และต้องถามกลับไปที่นายกรัฐมนตรีว่า สนับสนุนพรรคการเมืองใด และหากสนับสนุนพรรคการเมืองนั้น การเมืองไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร และต้องการเห็นการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ส่วนคำถามที่ 2 ของนายกรัฐมนตรีที่ถามว่า การที่ คสช. จากสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิ์ของ คสช. ใช่หรือไม่ เพราะนายกฯ ก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยอยู่แล้วนั้น นางสิริพรรณ เห็นว่า ตามหลักมาตรฐานสากล รัฐบาลทั่วไปที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะได้สิทธิพิเศษในการควบคุมกลไกทางการเมืองอยู่แล้ว แต่รัฐบาล คสช. ไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เข้ามาเป็นกรรมการเพื่อยุติความขัดแย้ง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด หรือ จะไม่ลงเลือกตั้วแล้วกลับเข้ามา ก็จะผิดหลักสากลของความเป็นกลางทางการเมือง ดังนั้น ที่นายกรัฐมนตรี ถามว่า เป็นสิทธิ์ที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองหรือไม่ เรื่องนี้มองว่าอาจสนับสนุนได้ในฐานะส่วนตัว แต่ไม่ใช่ในฐานะนายกรัฐมนตรี
สำหรับความเป็นไปได้ที่จะตั้งพรรคสนับสนุนทหาร นางสิริพรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาปฏิเสธ แต่หากย้อนดูประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทย ก็เคยเกิดขึ้น ส่วนตัวจึงมองว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการตั้งพรรคมาสนับสนุนทหารเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น เป็นคำถามที่ท้าทาย เพราะบรรยากาศทางการเมืองในตอนนี้ มองว่าโอกาสพรรคการเมืองที่สนับสนุนพรรคทหารจะได้เกิน 30 ที่นั่ง เป็นไปได้ยาก แต่ด้วยเงื่อนไขพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมีเยอะ ก็อยากที่จะเข้าไปร่วมรัฐบาล มากกว่าการเป็นพรรคการเมืองใหญ่ด้วยซ้ำ
“ทางออกที่ดีขณะนี้ คือ ให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ร่วมมือกัน เชื่อว่า 2 พรรคนี้ จะได้คะแนนเสียงรวมกัน ประมาณร้อยละ 70 จะสามารถถ่วงคะแนนเสียงในสภาฯ ต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการป้องกันเสียงจาก ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง เข้ามามีบทบาทในการสรรหานายกรัฐมนตรี” นางสิริพรรณ กล่าว .- สำนักข่าวไทย