กรุงเทพฯ 6 พ.ย. – เกิดเหตุการณ์ลูกจ้างทำงานบ้านถูกนายจ้างทำร้ายในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนความเชื่อนายจ้างเป็นใหญ่ เป็นผู้มีพระคุณ ประกอบกับกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้มีเพียงฉบับเดียว
จากกรณี น.ส.กฤษณา หรือ โมนา สุวรรณพิทักษ์ นายจ้าง ซ้อมน้องน้ำ สาวใช้วัย 16 ปี อย่างทารุณ จนเสียชีวิต และนำศพไปฝังเพื่ออำพรางคดี นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาข่าวลูกจ้างทำงานบ้านถูกเอารัดเอาเปรียบ ข่มเหง ทำร้ายจิตใจและร่างกาย เกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่างคดีหญิงไก่ ที่แจ้งจับลูกจ้างฐานหลักทรัพย์ หรือหมอสุพัฒน์ ฆ่าโหดแรงงานพม่าฝังดิน ปมปัญหาสำคัญของเหตุรุนแรงซ้ำซาก เกิดจากมิติความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน ด้วยความเชื่อที่ว่า คนใช้คือทาสในเรือนเบี้ย นายจ้างคือผู้มีพระคุณ ต่างจากการจ้างงานทั่วไป
ผู้ประสานงานโครงการพัฒนาศักยภาพลูกจ้างทำงานบ้าน สะท้อนกับทีมข่าวว่า ลูกจ้างทำงานบ้านเสี่ยงต่อการถูกละเมิดมากที่สุด เพราะส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุน้อย ไม่มีความรู้ และกินอยู่หลับนอนทำงานที่บ้าน เมื่อถูกนายจ้างข่มเหง จึงไม่กล้าสู้ เพราะหากทะเลาะกับนายจ้าง ไม่ตกงานก็ติดคุก
การคุ้มครองมีเพียงกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 ฉบับเดียว โดยคุ้มครองเรื่องวันหยุด ป้องกันการคุกคามทางเพศ ค่าตอบแทน และกำหนดโทษจำคุก 6 เดือน ปรับไม่เกิน 100,000 บาท กรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม แต่ก็ไม่ครอบคลุมเวลาทำงานและค่าแรงขั้นต่ำ แนะรัฐควรคุ้มครองเช่นเดียวกับแรงงานในระบบทั่วไป และขึ้นทะเบียนการจ้างให้ถูกต้อง
กระทรวงแรงงาน อธิบายเหตุผลที่ไม่กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ/เวลาทำงาน และการคุ้มครองเช่นแรงงานในระบบ เนื่องจากงานบ้าน เวลาทำงาน และการพักไม่แน่นอน ค่าจ้างจึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพงานที่ทำ สำหรับประเด็นการขึ้นทะเบียน แม้กฎหมายแรงงานกำหนดให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะสถานประกอบการที่มีแรงงาน 10 คนขึ้นไป แต่กระทรวงฯ จะนำไปพิจารณา เพื่อให้การคุ้มครองเกิดผลมากที่สุด
จากการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ พบมีลูกจ้างทำงานบ้าน 1.4 ล้านคน เป็นแรงงานไทย 1.3 ล้านคน และข้ามชาติ 100,000 คน ปัญหาที่เกิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง นอกจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ยังสะท้อนถึงทัศนคติของสังคมไทยที่ว่า คนใช้เป็นสมบัติของเจ้านาย การกระทำความรุนแรงเป็นเรื่องภายใน ทำให้การช่วยเหลือถูกละเลย. – สำนักข่าวไทย