ภูมิภาค 31 ต.ค.-หลายจังหวัดยังประสบภัยน้ำท่วม ผลกระทบจากฝนตกหนัก รวมถึงการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนเจ้าพระยา โดยที่มหาสารคามมีการป้องกันพื้นที่การเกษตร ที่ติดกับแม่น้ำชีอย่างเต็มกำลัง ขณะที่ชัยนาทน้ำเริ่มลดลง หลังเขื่อนเจ้าพระยาลดระบายลงอีกครั้ง
ที่ประตูระบายน้ำบ้านส้มโฮง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ทหาร ชาวบ้าน และนักศึกษา เร่งกรอกกระสอบทราย เพื่อนำไปเป็นแนวป้องกันน้ำ หลังแม่น้ำชีเพิ่มสูงทะลักท่วมพื้นที่การเกษตร 3 ตำบล รวมถึงเขตเศรษฐกิจใกล้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระยะทาง 3 กิโลเมตร นอกจากนี้ นักศึกษายังช่วยชาวนาเกี่ยวข้าวที่กำลังออกรวงอีกด้วย
ส่วนภาคกลางในลุ่มเจ้าพระยา น้ำที่ท่วมสูงใน อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เริ่มลดลง เพราะเขื่อนเจ้าพระยาลดการระบายน้ำ แต่ยังมีน้ำท่วม 40 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร 7 ตำบลเดือดร้อนหนัก ต้องอพยพโค-กระบือหนีน้ำไปอยู่ริมถนน และเริ่มขาดแคลนอาหาร เพราะประสบภัยนานนับเดือน ส่วนเขื่อนเจ้าพระยาลดอัตราระบายน้ำเหลือ 2,598 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ลดลงจากวานนี้ 49 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
ส่วนที่อ่างทอง เจ้าหน้าที่ อ.วิเศษชัยชาญ พร้อมทหารนำอุปกรณ์และเครื่องสูบน้ำ เร่งสูบน้ำออกจากโรงเรียนชุมชนวัดน้ำพุ เพื่อกู้โรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมนานนับเดือน โดยในวันนี้น้ำในแม่น้ำน้อยซึ่งล้นตลิ่งท่วมโรงเรียนถือว่าทรงตัว ทำให้เริ่มสูบน้ำออกได้ คาดว่าจะเปิดเรียนได้ในวันจันทร์หน้า (6 พ.ย.) จากกำหนดเดิมคือพรุ่งนี้ (1 พ.ย.)
ที่พระนครศรีอยุธยา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ เพราะถูกน้ำในแม่น้ำน้อยล้นตลิ่งท่วมนาน 4 เดือน ล่าสุดระดับน้ำทรงตัว แต่ชาวบ้านใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ใช้ห้องน้ำไม่ได้ ต้องพายเรือออกไปขับถ่ายตามพุ่มไม้ และต้องรออาหารจากโรงครัวของ อบต.ประทังชีวิตในแต่ละวัน จึงร้องขอภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ
ส่วนพื้นที่ อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี บ้านเรือนริมตลิ่งแม่น้ำท่าจีนมีน้ำท่วมสูง แต่ลดลง 3-5 เซนติเมตรในวันนี้ โดยแม่น้ำท่าจีนรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนระบายลงสู่ทะเล อย่างไรก็ตาม พบบ่อกุ้ง-บ่อปลาเสียหาย 1,600 ไร่ 11 ตำบลใน อ.บางปลาม้า ถูกน้ำท่วม
ภาพรวมทั่้วประเทศมีน้ำท่วม 17 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสิ้น 57 อำเภอ 390 ตำบล มีประชาชนเดือดร้อนประมาณ 290,000 คน ส่วนพื้นที่การเกษตรและปศุสัตว์เสียหายค่อนข้างมาก นับเฉพาะตั้งแต่ 1 ตุลาคมถึงปัจจุบัน มีพื้นที่การเกษตรเสียหาย 1.45 ล้านไร่, ปศุสัตว์ทั้งโค, กระบือ, สุกร และอื่นๆ ได้รับผลกระทบ 310,468 ตัว และบ่อปลาเสียหายเกือบหมื่นไร่
ด้านนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้ผันน้ำลงสู่แก้มลิง 12 ทุ่ง ทำให้ไม่เกิดน้ำท่วมเหมือนในอดีต หลังจากนี้ต้องเร่งระบายน้ำ ก่อนน้ำทะเลหนุน พร้อมเร่งสำรวจความเสียหาย และสั่งเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในภาคใต้ช่วงสัปดาห์หน้า ส่วนแผนระยะยาว พิจารณาโครงการชะลอน้ำไม่ให้เข้าสู่เมือง “โครงการบางบาล-บางไทร” วงเงินหมื่นล้าน รวมถึงขุดคลองสายใหม่ หวังระบายน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ลงสู่ทะเล วงเงิน 30,000-40,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย