กรมสบส.31 ต.ค.-กรมสบส.แนะประชาชนตรวจสอบหลักฐานสำคัญ 4 ประการก่อนรับบริการจากสถานพยาบาล สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองห่างไกลจากอันตรายของสถานพยาบาลเถื่อน หมอเถื่อน หมอกระเป๋า
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณี การเสียชีวิตของสาวประเภทสองขณะทำการผ่าตัดเสริมทรวงอก ณ คลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าคลินิกดังกล่าวมีการประกอบกิจการโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งกรม สบส.ในฐานะองค์กรหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ มีความเป็นกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิด ยิ่งปัจจุบันประชาชนต่างให้ความสำคัญกับสุขภาพและรูปลักษณ์ของร่างกายเพิ่มมากขึ้น จึงมีผู้ฉกฉวยโอกาส ลักลอบเปิดสถานพยาบาล ให้บริการรักษาพยาบาล หรือเสริมความงามที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน ซึ่งเป็นอันตรายต่อ ทั้งชีวิต ร่างกาย และความพิการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อ บาดแผลเน่า ใบหน้าผิดรูป จมูก/ปากเบี้ยว ตาบอดจากการฉีดสารเสริมความ ได้รับอันตรายจากยา และเวชภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพ หรือได้รับบริการรักษาพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐานจากหมอเถื่อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากไม่มีการควบคุม กำกับตามกฎหมาย
ดังนั้น ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองห่างไกลจากอันตรายของสถานพยาบาลเถื่อน หมอเถื่อน หมอกระเป๋า และสร้างความมั่นใจว่าจะได้รับบริการที่ตรงกับความต้องการ มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด กรม สบส.ขอเน้นย้ำให้ประชาชนทุกคนพิจารณาอย่างรอบด้านทุกครั้งก่อนรับบริการจากสถานพยาบาล อย่าด่วนตัดสินใจรับบริการเพียงเพราะคำบอกเล่าปากต่อปากว่าดี ภาพโฆษณาที่สวยงาม หรือราคาที่ถูกกว่าแห่งอื่น หากเป็นการรับบริการครั้งแรกขอให้ลงไปตรวจสอบสถานที่จริงด้วยตนเอง และจะต้องตรวจสอบหลักฐานสำคัญ 4 ประการ เพื่อยืนยันว่าเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้มาตรฐาน ประกอบด้วย
1.ป้ายชื่อคลินิกต้องแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก
2.มีการแสดงใบอนุญาตเปิดกิจการคลินิก เลขใบอนุญาตต้องตรงกับเลขที่ที่ติดที่ป้ายชื่อคลินิก
3.มีการแสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมคลินิกที่เป็นปีปัจจุบัน
4.มีการแสดงหลักฐานของแพทย์ที่ให้บริการในคลินิก โดยมี ชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายติดที่หน้าห้องตรวจ โดยสามารถตรวจสอบชื่อคลินิกได้ที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรม สบส.(www.mrd-hss.moph.go.th) และตรวจสอบชื่อแพทย์ได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) หากไม่พบรายชื่อหรือหลักฐานที่ต้องแสดงไม่ครบถ้วนไม่ควรรับบริการโดยเด็ดขาด .-สำนักข่าวไทย