ทำเนียบฯ 31 ต.ค.-นายกฯ อยากให้สังคมเปลี่ยนมุมมองต่อนักโทษ ด้าน “พล.อ.ประวิตร” ระบุแนวคิดอบรมผู้ต้องขังคดีปืน เพื่อเปิดโอกาสนำความรู้ช่วยกองทัพผลิตปืนสั้น ไม่ใช่นำความรู้จากกองทัพเรื่องอาวุธออกสู่ภายนอก ด้าน “สุวพันธุ์” ยืนยันเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ แจงมีระเบียบคัดเลือกผู้ต้องหา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (31 ต.ค.) กรณีสภากลาโหมมีมติให้นำนักโทษในคดีที่เกี่ยวกับปืนเถื่อนมาอบรม เพื่อทำประโยชน์เกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพ ว่า ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้นำนักโทษมาช่วยงาน และฝึกอบรมอยู่แล้ว
“เรื่องอาวุธ นักโทษบางคนมีความสามารถ หากนำมาช่วยให้ประกอบอาชีพที่สุจริตได้ ก็จะทำให้คนเหล่านี้มีคุณค่า จึงอยากให้สังคมเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อย่ามองว่านักโทษเป็นคนไม่ดีทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการหารือกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อหาวิธีที่เหมาะสม ทั้งเรื่องการคัดเลือกบุคคล และการทำงาน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเห็นชอบให้สำรวจและอบรมผู้ต้องขังในคดีผลิต ดัดแปลงสิ่งเทียมอาวุธปืน ให้เป็นอาวุธปืน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังเหล่านี้ได้ทำงาน และนำความรู้ความเชี่ยวชาญในการผลิตปืนมาใช้ โดยเฉพาะปืนสั้น ซึ่งที่ผ่านมา กองทัพไม่เคยผลิต มีแต่จัดซื้อเข้ามา จึงถือว่าเป็นการนำความรู้ของคนกลุ่มนี้มาถ่ายทอดให้กับกองทัพ ไม่ใช่การนำความรู้จากกองทัพในเรื่องอาวุธออกไปภายนอก ทั้งนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดในเบื้องต้น ขออย่าเพิ่งคิดล่วงหน้าไปว่าจะบรรจุบุคคลเหล่านี้ให้เข้ามาทำงานในกองทัพหรือไม่
ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกับช่างยนต์ ช่างเชื่อม และช่างสี ที่ได้มีการดูแลอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งผู้ต้องขังที่จะเข้าอบรมจะมีหลักเกณฑ์คัดเลือก เรื่องนี้จะต้องมีหลักเกณฑ์พิจารณาร่วมกันระหว่างกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ผู้ที่อบรมเข้าสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยขณะนี้ให้กรมราชทัณฑ์สำรวจจำนวนผู้ต้องขังในประเภทดังกล่าว รวมถึงความเชี่ยวชาญและความต้องการของกระทรวงกลาโหม
ส่วนที่สังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดอบรมดังกล่าวอาจเป็นดาบสองคม นั้น นายสุวพันธุ์ ยืนยันว่า แนวทางดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้ผู้ต้องขังมีงานทำ และการฝึกอบรมในการผลิตอาวุธปืน ไม่ใช่เพื่อทำปืนเถื่อน แต่เพื่อส่งเข้าสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยจะมีระเบียบปฎิบัติและขั้นตอนรองรับอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย