สำนักงาน กกต.12 ต.ค.- “สมชัย” ระบุ “พล.อ.ประยุทธ” ไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้ เพราะติดเงื่อนไขไม่ลาออกหลังรัฐธรรมนูญใช้ 90 วัน แต่นั่งนายกฯ คนนอกได้ ชี้อำนาจกำหนดวันเลือกตั้งเป็นของ กกต. และไม่ควรใช้เวลาจัดเลือกตั้งถึง 150 วัน แต่ควรรวมถึงประกาศผล เพื่อป้องกันร้องเลือกตั้งโฆฆะ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีประกาศเดือนมิถุนายน 2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง และจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 กำหนดให้การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของ กกต. ซึ่งหาก กกต.ชุดนี้ยังอยู่ปฎิบัติหน้าที่ก็จะพิจารณาว่า เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้เมื่อใด ก็จะมีการประชุมกัน เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง โดยจะดูความเหมาะสม ความเป็นไปได้ในการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องอยู่ภายใน 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 กำหนด
นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า ระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีระบุว่า เดือนมิถุนายน 2561 จะประกาศวันเลือกตั้ง และวันเลือกตั้งคือเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งรวมแล้วประมาณ 5 เดือน คือ 150 วันเต็ม จะเท่ากับว่านายกฯ คิดว่าระยะเวลา 150 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น หมายความถึงเฉพาะแค่จัดเลือกตั้งเท่านั้นหรือไม่ ซึ่งตนกลับมองว่า ระยะเวลาดังกล่าวควรจะรวมถึงการประกาศผลการเลือกตั้งด้วย เพราะถ้าไปพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 269 (ก) ที่กำหนดให้ กกต.ต้องจัดเลือกตั้ง ส.ว.จำนวน 200 คน กฎหมายใช้ถ้อยคำเดียวกับมาตรา 268 ว่าให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ให้ กกต.ดำเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว.จำนวน 200 คนให้แล้วเสร็จ ก่อนวันที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 15 วัน
“ดังนั้นถ้อยคำว่า ให้แล้วเสร็จ ตามมาตรา 268 จึงน่าจะเป็นความหมายเดียวกันกับมาตรา 269 (ก) คือการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จใน 150 วันต้องรวมถึงการประกาศที่ได้ ส.ส. 375 คนแล้ว “นายสมชัย กล่าวและว่า ขึ้นอยู่กับ กกต.ในขณะนั้น ที่จะต้องมาทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง ว่าจะมีความกล้าหาญตัดสินใจอย่างไร เพราะการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง จะส่งผลต่อการเมืองในอนาคต หากพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งนำเรื่อง 150 วัน ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ หรือ นำมาเป็นประเด็นการเมือง
เมื่อถามว่ามีเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งพรรคการเมือง และลงสมัครรับเลือกตั้ง นายสมชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามาถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ให้นำความตามมาตรา 264 วรรคท้าย กำหนดให้เอาความในมาตรา 263 วรรค 7 ที่ระบุว่าหาก ครม. รัฐมนตรี และ สนช. จะลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องพ้นการดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 90 วัน นับแต่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ซึ่งตอนนี้ถือว่าเลยช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้ว ส่วนการจะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องรอการปลดล๊อกพรรคการเมือง จึงจะมาสามารถดำเนินการกิจกรรมทางการเมืองได้ ซึ่งก็รวมถึงการขอจดแจ้งจัดตั้งพรรค แต่ในกรณีหากจะเป็นนายกฯ คนนอก กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ แต่ต้องเป็นเหตุในกรณีตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่อาจแต่งตั้งนายกฯจากบัญชีของพรรคการเมือง
“หากพิจารณาคำสั่ง คสช. ที่ 57 จะเห็นว่ามีข้อห้ามหลายอย่าง ห้ามพรรคจัดประชุมใหญ่ ดำเนินการกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ จดทะเบียนจัดตั้งพรรค และห้ามนำเงินกองทุนพรรคการเมืองไปอุดหนุนพรรค หรือแม้แต่จะเข้ามาขอแบบฟอร์มเพื่อไปเตรียมการตั้งพรรคใหม่ก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะ กกต.ยังไม่ได้ออกระเบียบรองรับ แต่คาดว่าจะออกระเบียบได้ในวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม และการมีผลบังคับใช่ก็น่าจะเป็นช่วงที่ คสช.จะปลดล็อกพรรคการเมืองพอดี”นายสมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย