กรุงเทพฯ 11 ต.ค. – “เรื่องเล่ารอบ 9 สถานที่ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9” วันนี้ ติดตามเรื่องเล่ารอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นพระราชวังที่ไม่เหมือนพระราชวังใดๆ เพราะมีทั้งแปลงนา โรงสีข้าว โรงโคนม บ่อปลา และโครงการทดลองส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตรอีกหลายโครงการ เพื่อพสกนิกรของพระองค์
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ภายในพระราชวังดุสิต เคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรรยากาศโดยรอบสวยงาม ร่มรื่น มีต้นไม้น้อยใหญ่ และมีทุ่งนา จากจุดเริ่มต้นที่ทรงให้ความสำคัญกับเกษตรกร อาชีพหลักของประเทศ ในปี 2504 ทรงทดลองปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงใช้รถไถนาเป็นเครื่องจักรในการเตรียมดินนา และทรงเพาะต้นกล้ายางนา ภายในบริเวณพระตำหนักฯ ก่อนจะเกิดเป็นโครงการส่วนพระองค์ ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังทรงสรรค์สร้างกิจการโคนมไทย เพื่อสร้างอาชีพให้เกษตรกร และเพื่อส่งเสริมสุขภาพให้คนไทย ซึ่งเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับการดื่มนม
ปี 2501 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างโรงเรียนจิตรลดาขึ้น ในบริเวณพระตำหนักฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่าย โดยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ ทรงศึกษาเล่าเรียนที่นี่ในวัยเยาว์
ศิษย์เก่าโรงเรียนจิตรลดา เล่าว่า คุณป้าของเธอเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ได้มีโอกาสเห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรกิจกรรมการแสดงในงานโรงเรียน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งจากสถานีนี้ 29 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2493 หลังพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 1 วัน เพื่อทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2531 ในพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระมหากษัตริย์ในอดีต เนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ที่พระนครศรีอยุธยา
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ยังอยู่ในความทรงจำของนักศึกษาและประชาชนในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผลจากเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้นักศึกษาและประชาชนหลายคนเข้าไปขอพึ่งพระบารมี
พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หนึ่งในสถานที่ในความผูกพันของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระราชวังที่ไม่เหมือนพระราชวังใดๆ นาข้าว บ่อปลา โรงสีข้าว โรงโคนม ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เป็นศูนย์กลางแห่งการคิดค้นและแก้ปัญหา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตในเขตพระราชฐาน ที่ประทับของอดีตพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง. – สำนักข่าวไทย