กรมชลประทาน 9 ต.ค.- กรมชลประทาน รับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ลดปริมาณน้ำไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุม ติดตามรับฟังสถานการณ์น้ำ จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมผู้บริหารกรมชลประทานเข้าร่วมประชุม
โดยอธิบดีกรมชลประทาน รายงานข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า ในช่วงวันที่ 9 – 11 ต.ค. 60 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนกลาง และ หย่อมความกดอากาศต่ำมีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งประเทศเวียดนาม ภาคตะวันอออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และในช่วงวันที่ 12 – 14 ต.ค. 60 หย่อมความกดอากาศต่ำที่เคลื่อนเข้ามาปกคลุมประเทศไทยได้สลายไปแล้วแต่บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและทะเลจีนใต้ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่างภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง นั้น
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ 9 ต.ค. 60 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 59,078 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมดปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,987 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 35,258 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 สามารถรองรับน้ำได้อีก 16,140 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกัน 18,344 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ74 ของความจุอ่างฯรวมกัน ปริมาณน้ำมากกว่าปี2559 รวม 2,966 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้11,648 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 8,682 ล้าน ลบ.ม.) สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 6,540 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ 9ต.ค. 60 ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 2,468 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.07 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อน นอกคันกั้นน้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งเดิม ได้แก่ บริเวณคลองโผงเผง คลองบางบาล และริมแม่น้ำน้อย บริเวณอ.บางบาล อ.เสนา และอ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงมีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบในบริเวณดังกล่าว โดยการทดระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำไว้ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับใช้ระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกรับน้ำเข้าไปอย่างเต็มศักยภาพ รวมกันวันละประมาณ 440 ลบ.ม.ต่อวินาทีจากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง เพื่อลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่พื้นที่ตอนล่าง
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ อาทิ บริเวณริมคลองชัยนาท – ป่าสัก ในเขตอ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี 2 เครื่อง บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต อ.เมือง จ.อ่างทอง 1 เครื่อง บริเวณอ.เมือง จ.สิงห์บุรี 20 เครื่อง พร้อมกับปิดท่อลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้น้ำไหลย้อนเข้าไปส่งผลกระทบ และยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขต อ.เมือง จ.อุทัยธานี อีก 5 เครื่องด้วย
ในส่วนของการรับน้ำเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างจนถึงปัจจุบัน(9 ต.ค. 60) สรุปได้ดังนี้ พื้นที่ฝั่งตะวันออก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 365 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 437 ล้านลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ฝั่งตะวันตก รับน้ำเข้าไปแล้วรวมทั้งสิ้น 484.66 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำที่รับได้สูงสุด 1,077 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสองฝั่งรับน้ำไปแล้วทั้งสิ้น 849.66 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุเก็บกักสูงสุดที่รับได้รวมกันประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร – สำนักข่าวไทย