กรุงเทพฯ 8 ต.ค.-หนึ่งในประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ “ราวบันไดนาค” ซึ่งเชื่อว่าเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์ ฝีมือนักเรียนศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9
ราวบันไดนาคหนึ่งในประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ 9 บันไดนาคเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์ มี 4 ชั้น แต่ละชั้นมีรูปแบบต่างกันแต่งดงามและสื่อความหมาย มีการควบคุมให้ตรงตามแบบแผนโดยกรมศิลปากร ชั้นที่ 1 นาคเศียรเดียว เป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ที่ได้ต้นแบบจากเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ชั้นที่ 2 นาคสามเศียร หรือมกรนาคา เป็นมังกรผสมนาค ซึ่งถือเป็นราวบันไดชั้นเดียวที่มีตีนนาคและเต็มไปด้วยศิลปกรรมผสมผสานทั้งอดีตและปัจจุบัน แต่งแต้มลงยาด้วยสีเบญจรงค์ ชั้นที่ 3 นาคทรงเครื่อง 5 เศียร พญาวาสุกรีนาคราช ศิลปะอยุธยาต้นแบบจากบันไดนาควัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี และชั้นที่ 4 นาค 7 เศียร หรือพญาอนันตนาคราช ติดตั้งชั้นพระเมรุมาศองค์ประธานนำต้นแบบมาจากปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ละหน้าจะมีความสง่างาม กายเป็นสีทอง และเป็นชั้นเดียวที่มีประติมากรรมครุฑยุดนาคติดอยู่ด้านหลัง บันไดนาคพระเมรุมาศมาจากฝีมือนักเรียนจากศิลปาชีพเกาะเกิด พระนครศรีอยุธยา และศิลปาชีพสีบัวทอง อ่างทอง นักเรียนช่างฝีมือใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทุกคนมีประสบการณ์ในการจัดสร้างฉากโขนพระราชทานมากว่า 10 ปี เช่นเดียวกับประติมากรรมเทพยดาท้องไม้องค์ประธาน และเทพชุมนุมฐานไพทีนั่งราบ มี 3 ชั้น คือชั้นฐานเทพพนม ชั้นฐานครุฑยุดนาค และชั้นฐานเทพชุมนุม มีทั้ง ครุฑ ยักษ์ พานร และเทวดา งานจัดสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ เป็นการรวบรวมสุดยอดช่างฝีมือแห่งแผ่นดินที่ร่วมใจถวายงานส่งเสด็จฯมากที่สุดครั้งหนึ่ง .-สำนักข่าวไทย