กรุงเทพฯ 5 ต.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับจีดีพีโตร้อยละ 3.7 แรงส่งจากส่งออกและท่องเที่ยว ยอมรับเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทั่วถึง เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยกำลังซื้อยังต่ำ
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 จากเดิมร้อยละ 3.4 โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะขยายตัวสูงกว่าครึ่งปีแรก นำโดยการส่งออกและท่องเที่ยว โดยการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 จากเดิมร้อยละ 3.8 หลังจาก 8 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกขยายตัวร้อยละ 8.9 มาจากยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางพารา และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังได้อานิสงส์จากการส่งออกน้อยกว่าประเทศในอาเซียนที่เติบโตเกินร้อยละ 10 นอกจากนี้ การส่งออกที่ขยายตัวดียังส่งผ่านไปยังเศรษฐกิจในประเทศได้ไม่ทั่วถึง ภาพรวมการจ้างงานภาคการผลิตยังลดลง ขณะที่ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น ค่าจ้างเฉลี่ยยังทรงตัว ประกอบกับรายได้เกษตรกรเริ่มชะลอตัว ทำให้การใช้จ่ายครัวเรือนยังกระจุกตัวในสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ บวกกับเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะเป็นแรงกดดันกำลังซื้อ สอดคล้องกับดัชนีภาวะการครองชีพครัวเรือนเดือนกันยายนค่อนข้างทรงตัว และในระยะ 3 เดือนข้างหน้าครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นจากการปรับราคาสินค้า อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้ของภาครัฐจะช่วยประคองการบริโภคภาคเอกชนให้ขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 3 จากเดิมร้อยละ 2.7 ส่วนแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร ทั้งราคามันสำปะหลัง และ ยางพารา ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แนวโน้มราคาจะขยับขึ้น ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์
ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะกลับมาเร่งตัวขึ้นครึ่งปีหลังท่ามกลางงบกลางปีที่ค่อย ๆ ทยอยออกมา โดยปรับลดการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐเหลือร้อยละ 5 จากเดิมคาดร้อยละ 8.5 หลังการลงทุนภาครัฐหดตัวไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่จะเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 2561 แต่หากจะให้เศรษฐกิจขยายตัวถึงร้อยละ 4 ต้องอาศัยการลงทุนภาคเอกชนสนับสนุนด้วย
ด้านนางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไว้ที่ร้อยละ 4 ตามการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาณการเติบโตที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะพลังงาน ก่อสร้าง ท่องเที่ยว และ อสังหาริมทรัพย์ ส่วนสินเชื่อรายย่อยยังเติบโตแบบประคองตัว สินเชื่อรายย่อยฟื้นตัวได้เพียงบางส่วน ต้องรอการฟื้นตัวของกำลังซื้อ ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ยังเติบโตแบบระมัดระวัง ธนาคารพาณิชย์ยังดูแลเรื่องคุณภาพหนี้ ทำให้ปรับลดอัตราการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลเหลือทรงตัว จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 1 ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล สิ้นปีนี้ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 2.98 หลังจากที่เอ็นพีแอลสูงสุดเมื่อไตรมาส 3 ร้อยละ 3.06
ส่วนทิศทางค่าเงินบาท คาดว่าจะอ่อนค่าเล็กน้อยมาอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสิ้นปีนี้ และสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 33.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งช่วงที่เหลือของปีนี้ และปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในปี 2561 ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยช่วงครึ่งหลังปี 2561 รอการฟื้นตัวของกำลังซื้อชัดเจนขึ้น. – สำนักข่าวไทย