กรุงเทพฯ 19 ก.ย. – กสิกรไทย เดินหน้าจับมือ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี เน้นธุรกิจนำเข้า-ส่งออก และธุรกิจท่องเที่ยว ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อและค้ำประกันตลอดโครงการ 85,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้
นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภายใต้ “โครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุน” (PGS ระยะที่ 6) เพื่อช่วยเรื่องเงินทุนหมุนเวียนและขยายกิจการแก่กลุ่มธุรกิจนำเข้า-ส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว โดยกลุ่มธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ให้วงเงินสินเชื่อเพื่อนำเข้า-ส่งออกสูงสุด 60 ล้านบาท ไม่ต้องมีหลักประกัน โดย บสย. ค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาท พร้อมเพิ่มวงเงินสินเชื่อเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาทให้กับเอสเอ็มอี ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเติบโตในธุรกิจได้เพิ่มขึ้น
ส่วนกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว สนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องหรือลงทุนขยายกิจการ สูงสุด 3.3 เท่าของมูลค่าหลักประกันให้แก่ ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ธุรกิจนำเที่ยว บริการสปา โดย บสย. ค้ำประกันเพิ่มสูงสุด 40 ล้านบาท ธนาคารฯ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่สำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวในสิ้นปี 2560 จำนวน 1,500 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอี 2,000 ราย
ด้านนายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เปิดเผยว่า สถานการณ์เอสเอ็มอีในภาพรวมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการที่รัฐบาลเดินหน้านโยบายการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมาอย่างต่อเนื่อง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุน (PGS ระยะที่ 6) ที่บสย. ทำร่วมกับ 18 สถาบันการเงินนั้น ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มียอดค้ำประกันสินเชื่อ 47,365 ล้านบาท คาดว่าตลอดโครงการนี้จะมีการปล่อยสินเชื่อและค้ำประกันทั้งหมด 85,000 ล้านบาท
ช่วยให้เอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อรวมกว่า 50,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 136,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มรวมประมาณ 108,000 คนและสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 371,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บสย. ยังได้แก้ไขกฎหมาย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาให้บสย.สามารถค้ำประกันสินเชื่อให้กับกลุ่มธุรกิจ แฟคทอริ่ง, ลิสซิ่ง โดยประเดิมกับธนาคารกสิกรไทยเป็นลำดับแรก เพื่อให้ลูกค้าในกลุ่มเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยตั้งเป้าจะเริ่มค้ำประกันในปี 2561 เป็นต้นไป เบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าการค้ำประกันสินเชื่อประมาณ 2,000 ล้านบาท .- สำนักข่าวไทย