กรุงเทพฯ 5 ก.ย. – ก.พลังงานออกโรงแจงโรงไฟฟ้า ”สตึงมนัม” หลังนายกฯ สั่งชะลอโครงการ พ้อไม่ใช่เจ้าของโครงการ ดำเนินการตามนโยบายภาครัฐ รอ “มท.-เกษตรฯ-ก.ทรัพยากร” ยืนยันชัดเจนมีน้ำป้อนพื้นที่อีอีซี ก็พร้อมยุติโครงการ
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกหน่วยชะลอโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ขนาด 24 เมกะวัตต์ ในประเทศกัมพูชาออกไปก่อน เพื่อรอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับไปศึกษาการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความชัดเจนว่าความต้องการใช้น้ำและแหล่งน้ำในประเทศจะมีเพียงพอต่อความต้องใช้ในระยะยาวหรือไม่ หลังกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่าน้ำมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วง 12 ปีนี้ ซึ่งทางกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่เจ้าของโครงการ ถ้าไม่ต้องการโครงการนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น โดยขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานสอบถามไปยังกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะดำเนินโครงการนี้หรือไม่ โดยต้องยืนยันว่าถ้าไม่มีโครงการนี้แล้วโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะใช้น้ำจากที่ใด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะทำงานศึกษาแนวทางการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านได้ประชุมร่วมกันหลายครั้งมีผู้แทนจากหลายกระทรวงเข้าร่วมให้ข้อมูล ซึ่งพบว่ามีความต้องการใช้น้ำภาคตะวันออกจะมีประมาณ 12,000 ลูกบาศ์เมตร ปัจจุบันยังขาดน้ำอยู่ 6,000 ลูกบาศก์เมตร โครงการ “สตึงมนัม” อาจจะมาช่วยได้ส่วนหนึ่ง คือ 300 ลูกบาศก์เมตร กระทรวงพลังงานจึงเดินหน้าศึกษาโครงการตามคำสั่งการของรัฐบาล
“โครงการนี้ไม่ได้มีส่วนสำคัญในการเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้า เพราะรับซื้อเพีง 24 เมกะวัตต์ แต่จะได้ประโยชน์จากการได้น้ำมาช่วยขับเครื่องอีอีซี ที่ถือเป็นเครื่องยนต์เครื่องใหม่ของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ส่วนประเด็นการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ราคาแพงถึง 10.75 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นการบวกรวมค่าไฟฟ้าและค่าน้ำ โดยต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ส่งน้ำผ่านภูเขาลงทุน 9,000-10,000 ล้านบาท และเป็นราคา maximum ซึ่งทุก ๆ 10.75 บาทต่อหน่วย นอกจากจะได้ไฟฟ้า 1 หน่วย บนพื้นฐานต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ไทยผลิตได้อยู่ที่ 2.60 บาทต่อหน่วย และยังได้น้ำอีก 3 ลูกบาศก์เมตร เฉลี่ยลูกบาศก์เมตรละ 2.80 บาท ได้น้ำอย่างน้อยปีละ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร มีข้อผูกผันในการส่งน้ำเป็นเวลา 50 ปี” นายประเสริฐ กล่าว.-สำนักข่าวไทย