กรุงเทพฯ 29 ส.ค.-กกพ.เตรียมระดมสมองรับมือเอกชนพึ่งระบบโซลาร์ลดค่าไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ห่วงภาระตกกับค่าไฟฟ้าภาคประชาชน
หลังจากภาคเอกชนมีการพึ่งพาไฟฟ้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งรูปแบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) และติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม)มากยิ่งขึ้น เช่น กลุ่มบ้านปูผันตัวเองมาให้บริการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเป้าหมาย 300 เมกะวัตต์ใน 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่กลุ่มเอสซีจีมีการติดตั้งโซลาฟาร์มในโรงงาน ต่างๆ กว่า 11 เมกะวัตต์
นายวีรพล จิระประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.กล่าวว่า กกพ.เตรียมเรียกทุกฝ่ายร่วมหารือว่าจะรับมือทิศทางการผลิตไฟฟ้าพึ่งพาตนเองที่มากขึ้นในอนาคตอย่างไร เพราะผู้ที่ติดตั้งระบบโซลาร์ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ที่ต้องการลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ ส่วนใหญ่ค่าไฟฟ้าจะถูกกว่าระบบร้อยละ 10 ขึ้นไป แต่ผลกระทบที่ตามมาคือการใช้ไฟฟ้าจากระบบลดน้อยลง ตัวหารเฉลี่ยการคำนวณค่าไฟฟ้าจะลดน้อยลง กระทบต่อค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่ประชาชยได้รับสูงขึ้น โดยปัจจุบันการคิดค่าสำรองไฟฟ้าหรือแบ็คอัพจะไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเนื่องจากการผลิตยังไม่เสถียร แต่ในอนาคตหากมีปริมาณเพิ่มขึ้น เมื่อมีผลกระทบก็ต้องดูว่าจะมีทางรับมืออย่างไรในอนาคต ซึ่งล่าสุดเอกชนมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองแล้ว 2,400 เมกะวัตต์ ส่วนระบบโซลาร์รูฟท็อปมีราว70 เมกะวัตต์
“เทรนด์เทคโนโลยีใหม่บวกกับต้นทุนโซลาร์ถูกลง ภาคเอกชนก็ปรับตัวลดต้นทุนจากการใช้ต้นทุนถูกกว่าการพึ่งพาระบบในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นเรื่องทางธุรกิจ แต่ต้องยอมรับว่ามีผลต่อการวางแผนผลิตไฟฟ้าทั้งด้านความมั่นคงและค่าไฟฟ้าที่ประชาชนอาจต้องจ่ายเพิ่มขึ้น กกพ.ก็ต้องการฟังความเห็นและวางแผนร่วมกันให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่าย” นายวีรพลกล่าว
ทั้งนี้ กรณีตั้งโซลาร์รูฟท็อปบ้านที่อยู่อาศัยหากติดต่ำกว่า 10 กิโลวัตต์ ไม่ต้องจดแจ้ง ต่อ กกพ. หาก 10 กิโลวัตต์ขึ้นไปไม่ถึง 1 เมกะวัตต์ ต้องจดแจ้งต่อ กกพ. แต่ไม่ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน หรือ รง.4 แต่หากเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องขอใบอนุญาติประกอบกิจการและ รง.4 -สำนักข่าวไทย