กรุงเทพฯ26 ต.ค.-สัปดาห์นี้ อัคราฯ จะยื่นขอต่อใบอนุญาตโรงแต่งแร่ทองคำ พร้อมแนบเสียงสนับสนุนจากชาวบ้าน 29 หมู่บ้าน
ใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมหรือโรงแต่งแร่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำในจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์ จะสิ้นสุดลงในอีก 2 เดือนข้างหน้าหรือในสิ้นปีนี้ หากไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต การทำเหมืองทองคำก็จะยุติไปโดยปริยายเพราะไม่อาจแต่งสินแร่ที่ได้จากการทำเหมือง
จากเหตุผลดังกล่าว ภายในสัปดาห์นี้ บริษัท อัคราฯ จึงเตรียมยื่นเรื่องขอต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมหรือโรงแต่งแร่ทองคำไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เนื่องจากการยื่นขอต่อใบอนุญาตจะต้องยื่นก่อนใบอนุญาตเดิมหมดอายุ 60 วัน พร้อมแนบผลสำรวจความคิดเห็น ความพึงพอใจของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองทองคำทั้ง 29 หมู่บ้าน ที่ผลสำรวจของบริษัท ฯ ระบุว่า ชาวบ้านร้อยละ 88 พึงพอใจ ถึงพึงพอใจมากที่ให้เหมืองทองคำ อยู่ร่วมกับชุมชนต่อไป และประชาชนกลุ่มนี้ มากถึงร้อยละ 93.6 ยังระบุด้วยว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง
บริษัทยังอ้างถึงการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนครั้งนี้ว่า เป็นไปตามคำแนะนำของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.)ที่ระบุว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ควรได้รับการสนับสนุนจากชุมชนในการดำเนินกิจการ หรือ Social License to Operate
นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประสานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ระบุว่า ผลสำรวจพบว่า ที่ชาวบ้านร้อยละ 88 พึงพอใจ ถึงพึงพอใจมากที่ให้เหมืองทองคำ อยู่ร่วมกับชุมชนต่อไป ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 12 นั้น จำนวนร้อยละ 7 ระบุว่า เฉยๆ ขณะที่มีเพียงร้อยละ 2 ไม่พอใจเล็กน้อยถึงไม่พอใจ ที่เหลืออีกร้อยละ 3 ไม่ตอบคำถาม และประชาชนทั้ง 29 หมู่บ้านมากถึงร้อยละ 93.6 ยังระบุด้วยว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง แต่มีข้อเสนอแนะให้บริษัทฯเพิ่มความเข้าใจแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความวิตกกังวล
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า เหมืองทองคำดำเนินงานอยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดีมาโดยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา และอัคราฯได้รับการต้อนรับจากคนในชุมชน โดยเฉพาะการดูแลและให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนรอบเหมืองมาโดยตลอด
“บริษัทฯ จะนำส่งผลการสำรวจฉบับเต็มให้ กพร. เพื่อประกอบการขอต่อใบอนุญาตประกอบโลหกรรมภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากการยื่นขอต่อใบอนุญาต จะต้องยื่นก่อนใบอนุญาตเดิมหมดอายุ 60 วัน ถ้าหากบริษัทไม่ได้ทำเหมืองทองคำต่อพื้นที่จังหวัดพิจิตร เม็ดเงินจะหายไปจากระบบเศรษฐกิจถึงเดือนละ 500 ล้านบาท” นายเชิดศักดิ์ กล่าว
นายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของบริษัทฯ นำเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสูงประเทศและก่อให้เกิดรายได้มากกว่า 40,000 ล้านบาท เช่นค่าภาคหลวงที่ชำระแล้ว 4,299,453,227.50บาท ซึ่งเป็นข้อมูลถึงเดือน กันยายน 2559, ด้านภาษีเงินได้ชำระแล้ว 1,145 ล้านบาท ต้นทุนการผลิตที่เป็นเม็ดเงินหมุนเวียนอยู่ในชุมชน อาทิ ค่าจ้างพนักงานที่เน้นจ้างคนในท้องถิ่น และการนำเงินไปสนับสนุนการทำงานของชุมชนในท้องถิ่นในทุกๆด้าน ดังนั้น หากบริษัทฯต้องหยุดการดำเนินกิจการลงถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ผลที่จะกระทบโดยตรงก็คือ เศรษฐกิจในท้องถิ่น รายได้ที่จะเข้าประเทศ คุณภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นแทบจะหยุดพัฒนา และจะมีการย้ายถิ่นฐาน เพื่อหางานทำในเหมืองหลวง และที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากเหตุผลของการต่อใบประกอบโรงงานโลหกรรมของเหมืองแร่ทองคำชาตรีถึงเพียงแค่ สิ้นปี 2559 ทั้งๆ ที่บริษัทฯยังมีประธานบัตรถึง 2571 โดยยังไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม จึงอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในการนำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนยังประเทศไทย แต่หากบริษัทฯได้รับการพิจารณาให้ดำเนินการต่อจะทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติมีความเชื่อมั่น และที่สำคัญคือ มีรายได้เข้าประเทศอีกนับหมื่นล้านบาทยังประโยชน์กับประเทศและคนในท้องถิ่นต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมีคำสั่งยุติการอนุญาตการสำรวจ ทำเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ และอนุมัติให้ต่อใบอนุญาตโรงงานประกอบโลหกรรมของเหมืองแร่ทองคำชาตรี ภายใต้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถึงเพียงสิ้นปี 2559 เท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการลดความขัดแย้งในพื้นที่ -สำนักข่าวไทย