ระยอง 6 ส.ค.- กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ย้ำ นับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ที่หน่วยหลังปิดหีบ ป้องกันทุจริตได้ ยืนยัน ไม่ใช้ระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบ
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า กรธ.ได้ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของของการนับคะแนนแต่ละวิธีแล้วพบว่า การนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง มีข้อดีคือ จะเริ่มนับคะแนนตั้งแต่ปิดหีบในเวลา 16.00 น. ทำให้ประชาชนได้ทราบผลการลงคะแนนอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมีการเคลื่อนย้ายหีบบัตรไปนับที่อื่น ป้องกันการทุจริตระหว่างการขนย้ายหีบบัตร และเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยได้อีกทางเพราะประชาชนที่สนใจสามารถติดตามการนับคะแนนที่หน่วยได้ แต่อาจส่งผลเสียสำหรับหัวคะแนนได้
โฆษก กรธ. กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.) มีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเรื่องการกำหนดโทษในกรณีที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่จะถูกตัดสิทธิ์ไป 2 ปีนั้น ยืนยันว่า ไม่ได้รวมถึงการลงคะแนนเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะไม่ได้บัญญัติอยู่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ พร้อมระบุว่า การใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นหน้าที่อยู่แล้ว ดังนั้น หากใครจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับประชาชน
นายนรชิต กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (5 ส.ค.)กรธ.ได้พิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ต่อเนื่อง ในประเด็นที่พิจารณาเพิ่มเติม คือมาตรา 90 เรื่องการลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า กรธ.ยืนยันว่า ยังมีอยู่ แต่มีข้อสังเกตจากหลายคนว่า ในส่วนนี้เป็นกรณีที่เกิดการทุจริตค่อนข้างมาก มีการขนคนไปลงคะแนนกันจำนวนมาก แต่กรธ.ก็ยืนยันว่า มีความจำเป็นต้องมีอยู่ แต่เขียนเพิ่มเติมว่า การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า สามารถแจ้งได้ว่า จะขอเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นการถาวรและขอเลือกตั้งล่วงหน้าเฉพาะกาล ซึ่งเป็นการขอเลือกตั้งล่วงหน้าเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนั้น ๆ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในต่างประเทศ ได้เขียนเพิ่มเติมให้ชัดเจนคือ ให้แจ้งขอการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นการถาวร หรือเฉพาะกาล เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ในมาตรา 98 ยังกำหนดว่า การเลือกตั้งในต่างประเทศ นอกจากใช้บัตรลงคะแนน สามารถใช้วิธีการลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่มีเงื่อนไขที่การลงคะแนนของประชาชนต้องเป็นความลับเช่นเดียวกัน
โฆษก กรธ. กล่าวว่า สำหรับมาตรา 112 เรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งนั้น หาก กกต.เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรมแล้ว และได้ผลการเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 แล้ว ให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง และภายใน 60 วันให้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองใหญ่ทักท้วงให้ยกเลิกการไม่ให้ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันใช้เบอร์เดียวกันว่า เป็นระบบที่ไม่สนับสนุนระบบพรรคการเมืองนั้น นายนรชิต กล่าวว่า การบัญญัติเช่นนี้ เนื่องจากหลักการกาบัตรใบเดียวกันทั้งผู้สมัครและพรรคการเมือง เป็นเรื่องของความเท่าเทียมกัน ไม่ให้มีความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่พรรคการเมืองยังเสนอความเห็นมายัง กรธ. ได้ รวมถึงเสนอความเห็นในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
นายนรชิต กล่าวว่า วันนี้ (6 ส.ค.) กรธ.ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการที่พิจารณาแล้ว จึงเป็นร่างเกือบสมบูรณ์และส่งกลับมาให้ กรธ.พิจารณารอบคอบอีกครั้งหนึ่ง ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวมีทั้งหมด 110 มาตรา แต่ล่าสุดได้ตัดออกไปหลายมาตราแล้วเช่นกัน โดยในร่างแบ่งได้ 5 หมวด ประกอบด้วย หมวดอำนาจของศาล หมวดองค์ประกอบของศาล หมวดการพิจารณาของศาล หมวดการทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง และหมวดสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนบทเฉพาะกาลในร่าง กรธ.ยืนยันหลักการเดิมว่า ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญบังคับใช้ ก็ให้ยังดำรงอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยให้มีคณะกรรมการสรรหามาพิจารณาว่า ตุลาการคนใดมีคุณสมบัติหรือข้อห้ามครบหรือไม่ หากใครขาดคุณสมบัติก็ให้พ้นจากตำแหน่ง.-สำนักข่าวไทย