กรุงเทพฯ 22 ก.ค.- นายกรัฐมนตรี ยืนยันเดินถูกทางบริหารประเทศขจัดธุรกิจสีเทา เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐาน ระบุแม้เบื้องต้นจะยังกระจายรายได้ไม่ทั่วถึง แต่ 5 ปีข้างหน้าเม็ดเงินลงทุนจะส่งถึงทั่วประเทศสร้างงาน 1.3 แสนอัตรา ลดต้นทุนโลจิสติกส์ กว่า2% ต่อ GDP ลดใช้เชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” วานนี้ (21 ก.ค.) ในช่วงหนึ่งว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมานั้น ปัญหาสำคัญๆ ในอดีตที่รัฐบาลนี้พยายามจะแก้ไข แล้วก็ปรับให้เข้ามาสู่สิ่งที่ควรจะเป็น และเป็นสากล มี 3 เรื่องหลักๆ คือ (1) การจัดระเบียบสังคม และการบังคับใช้กฎหมายปกติให้ได้ ให้มีประสิทธิภาพ (2) การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ ให้มีความสมดุลและยั่งยืน (3) การวางรากฐานการปฏิรูป ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยระยะแรก รัฐบาลนี้และ คสช.ดำเนินการเตรียมการในทุกมิติทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ต่อประเทศไทย ได้แก่ การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เป็นวาระแห่งชาติ เช่น IUU ICAO ยาเสพติด การทุจริตคอร์รัปชั่น บุกรุกป่า เป็นต้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชน นายทุน ผู้ประกอบการ เป็นจำนวนมาก ที่ดำเนินกิจกรรมขัดต่อกฎหมาย เช่น การบุกรุกป่า การรุกล้ำเขตน่านน้ำ การประมงที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย การนำเข้าแรงงานต่างด้าวไม่ถูกต้อง นำไปสู่ปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานทาส การค้าขายบนทางเท้า ในพื้นที่กีดขวางการจราจร การค้าปลีกสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อรัฐบาลนี้เคร่งครัด อันเป็นมาตรฐานที่ดี เป็นสากลเพื่อจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ก็ต้องยอมรับว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้พี่น้องประชาชนเหล่านั้นมีรายได้ลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายเงินในระบบเศรษฐกิจ จาก ธุรกิจสีเทา ก็คือที่ผิดกฎหมายนั่นลดลง เงินหมุนเวียนในระบบฯ ลดลงตามไปด้วย จึงขอให้ทุกคน ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าใจว่าต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ซึ่งรัฐบาลพยายามจะช่วยเหลือ สร้างงาน สร้างอาชีพ หรือหามาตรการอื่นๆ ที่ถูกกฎหมาย มารองรับ ทำให้ท่านสามารถมีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีความยั่งยืน พยายามอย่างเต็มที่
“รัฐบาลนี้เข้าใจดีว่า ถึงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่รายได้อาจจะยังไม่กระจายไปสู่ประชาชนได้มากนัก เพราะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ยังไม่แข็งแรงเพียงพอ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ส่งผลทางเศรษฐกิจ ในทันที แต่อาจจะส่งผลทางด้านทางจิตวิทยาและความเชื่อมั่นในเบื้องต้น มีการวาดภาพ มีการวาดความฝันอนาคตไว้ร่วมกัน วันนี้ก็ต้องลำบากก่อน เพราะว่าเราทำอะไรตามใจตัวเองกันมานานแล้ว” นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผมขอฉาย ภาพอนาคต ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ทุกระบบของประเทศ ในภาพรวม ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า 2565 จะมีการเปลี่ยน แปลงอะไรบ้าง ซึ่งประชาชนคนไทยทั่วทุกภูมิภาค จะได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลง เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ได้แก่
(1) การขนส่งทางถนน จะมีทางหลวงขนาด 4 ช่องทางจราจรขึ้นไปเพิ่มขึ้นอีกราว 700 กิโลเมตร มีทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเพิ่มขึ้นจากเดิมมีเพียง 146 กิโลเมตร เป็น 636 กิโลเมตร มีการพัฒนาทางหลวงชนบท เพื่อแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมืองเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีการสร้างสะพานข้าม อุโมงค์ลอดรถไฟเพิ่มขึ้นกว่า 100 แห่ง และสร้างสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ อีก 5 แห่ง เป็นต้น
(2) การขนส่งทางราง จะมีรถไฟทางคู่ เพิ่มขึ้นราว 15 เท่า จาก 250 เป็น 3,500 กว่ากิโลเมตร มีการพัฒนาราง 4 เส้น ทาง กว่า 1,039 กิโลเมตร และมีรถไฟฟ้า เพิ่มขึ้นเป็น 11 เส้นทาง ระยะทางรวม 439 กิโลเมตร จะช่วยลดปริมาณการจราจรบนท้องถนน ปริมาณรถต่างๆ บรรเทาความคับคั่งลง เช่นการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เดินทางระหว่างเมือง ลดจาก 59% เหลือ 40% เพิ่มความเร็วเฉลี่ยให้กับการเดินทางโดยรถไฟ จาก 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมทั้งสามารถลดอุบัติเหตุ และลดความสิ้นเปลืองพลังงานลงได้ด้วย
(3) การขนส่งทางน้ำ จะมีท่าเรือชายฝั่งทะเลเพิ่มขึ้น 5 แห่ง รวมเป็น 23 แห่ง และพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ให้สามารถรองรับตู้สินค้า เพิ่มจาก 11 ล้าน เป็น 18.8 ล้านTEUs ต่อปี จะช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี และลดต้นทุนโลจิสติกส์ลง มากกว่า 2% ต่อ GDP และ
(4) การขนส่งทางอากาศ จะมีท่าอากาศยานเพิ่มขึ้น เช่น เบตง มีการยกระดับสนามบินอู่ตะเภา สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นราว 3 แสนเที่ยวบินต่อปี และรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นราว 60 ล้านคนต่อปี
นายกรัฐมนนตรี กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่กล่าวมานั้น จะทำให้เกิดความต้องการทั้งบุคลากรและวัสดุก่อสร้างเป็นจำนวนมากภายในระยะ 5ปีข้างหน้า โดยคาดการณ์ความต้องการบุคลากรในภาพรวม ราว 1.3 แสนอัตรา เช่น ช่างต่างๆ 5,280 อัตรา วิศวกร 5,213 อัตรา เป็นต้น ส่วนความต้องการวัสดุในภาพรวมมีความต้องการวัสดุจำพวกหิน 117 ล้าน ลบ.ม. ปูนซีเมนต์ 21 ล้านตัน เหล็ก 7 ล้านตันเป็นต้น ซึ่งต้องมีการวางแผนเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว ทั้งในด้านการผลิตและการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ สรรหาบุคลากร และแรงงาน เพื่อภาคเอกชน จะได้มีวางแผนเตรียม การผลิตได้ทันตามความต้องการใช้งานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และมีการบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
“ประโยชน์ที่จะได้ถึงมือประชาชนนั้น เป็นในรูปแบบการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ความสะดวกและปลอดภัย มีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น ยกระดับคุณภาพชีวิต สามารถหาเลี้ยงชีพในถิ่นเกิด โดยไม่ต้องเสี่ยงโชคในเมืองเป็นต้น หากสิ่งเหล่านี้สำเร็จได้ก็จะสร้างความเชื่อมโยง สร้างงาน สร้างอาชีพ มีทางเลือกและโอกาสมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้ถึงคนไทยทุกคน” นายกรัฐมนตรี ระบุ. – สำนักข่าวไทย