ที่ประชุม EEC เห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 3 แห่ง

ทำเนียบฯ 6 ก.ค.-ที่ประชุม EEC เห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก แหลมฉบัง สัตหีบ และมาบตาพุด โดยมีรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยง พร้อมทั้งระบบบริการการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก


นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ EEC ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง ได้แก่ แหลมฉบัง สัตหีบ และมาบตาพุด โดยมีรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยง พร้อมทั้งระบบบริการการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ เป็นโครงการหลักที่จะยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก          

นายคณิศ กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะมีระบบจัดการแบบอัตโนมัติที่ทันสมัย สามารถรองรับการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านตู้ต่อปีในปัจจุบัน เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี และขนส่งรถยนต์ได้เพิ่มจาก 1 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งจะเปิดให้เอกชนร่วมทุนได้ในปี 2561 คาดว่าโครงการฯ จะแล้วเสร็จอย่างช้าในปี 2568          


นายคณิศ กล่าวอีกว่า ส่วนการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะช่วยขยายการนำเข้าวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง และ Boi-economy, รองรับการขนถ่าย LNG เพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านตันต่อปี เป็น 62 ล้านตันต่อปี โครงการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเปิดให้เอกชนลงทุนในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ขณะที่การพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ จะมีการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่ เพื่อรองรับการเชื่อมอ่าวไทย (สัตหีบ-กรุงเทพ-หัวหิน) ซึ่งจะเร่งรัดการออกแบบและก่อสร้างอาคารท่าเรือเฟอร์รี่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 ส่วนท่าเรือสำราญกำลังอยู่ในระหว่างศึกษาเตรียมการ          

นายคณิศ กล่าวอีกว่า สำหรับรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ และมีระบบบริการการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อนั้น จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางมาถึงท่าเรือ จากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 ลดระยะเวลาในการขนส่งเฉลี่ยจากเดิม 24 ชั่วโมง ลงเหลือประมาณ 8 ชั่วโมง ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดลงจากร้อยละ 14 ของ GDP ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 12 หรือประหยัดลงประมาณ 250,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะมีการลงทุน ประมาณ 68,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงและสร้างทางคู่ รวมทั้งศูนย์กระจายและรวบรวมสินค้า ซึ่งสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรรับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 รวมทั้งการพิจารณาจัดตั้งศูนย์กระจายและรวบรวมสินค้าตามความเหมาะสมระหว่างเสร้นทางรถไฟจากจังหวัดหนองคายถึงท่าเรือแหลมฉบัง          

นายคณิศ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้น เพื่อให้การลงทุนสำคัญ ๆ ใน EEC เกิดความคล่องตัว โดยยังคงรักษากระบวนการและมาตรฐานความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบ การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนโดยทั่วไปตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ปี 2556 และจะสามารถลดระยะเวลาการอนุมัติโครงการ โดยในแต่ละขั้นตอนจะดำเนินการร่วมกันและคู่ขนานกันไป ทำให้ลดระยะเวลาเหลือ 8-10 เดือน จากกรณีปกติใช้เวลา 40 เดือน          


“ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบหลักเกณฑ์การการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC โดยเน้นการใช้ประโยชน์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ.และเอกชนที่เหลืออยู่ประมาณ 12,000 ไร่ และที่รอขอจัดตั้งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้วอีก 20,000 ไร่ และให้ประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่ 1,466 ไร่ บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ของ กนอ. และให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ประสานกับนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีพื้นที่เหลืออยู่ เพื่อกำหนดให้เป็นเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อให้สามารถระบุพื้นที่ให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนได้ทันที” นายคณิศ กล่าว          

นายคณิศ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบให้ประกาศเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation:EECi) และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Dagital Park Thailand:EECd) โดย EECi อยุ่ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นฐานเชื่อมโยงและถ่ายทอดวิจัยและนวัตกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งอยู่บริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ จังหวัดระยอง ในพื้นที่ 3,000 ไร่ และบริเวณอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่ 120 ไร่ ส่วน EECd อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนในอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลขนาดใหญ่และพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงตามนโยบายรัฐบาล ตั้งอยู่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่ 709 ไร่          

นายคณิศ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ รับทราบผลการทำความเข้าใจในพื้นที่ EEC ซึ่งประชาชนให้การสนับสนุนและร่วมกันแก้ไขข้อกังวล เพราะเห็นโอกาสที่จะได้รับการพัฒนา ทำให้อนาคตดีขึ้น โครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น โอกาสในการประกอบอาชีพดีขึ้น โดยขอให้ภาครัฐช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม เช่น ความพอเพียงของน้ำ ระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งเร่งการฝึกอบรมเยาวชนให้ทันการพัฒนา EEC

“นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมอีก 3 เรื่อง คือ 1.ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ EEC ให้มีการปรับการเกษตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาของ EEC 2.ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้พื้นที่ EEC ได้รับความมั่นใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และ 3.ให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดการดำเนินการโครงการถไฟทางคู่เชื่อมโยงจาก EEC ต่อไปยัง ทวาย-ย่างกุ้ง-ติลาวา เชื่อมโยงไปจนถึงอินเดีย ทั้งนี้ในข้อสั่งการเรื่องที่ 1 และ 2 ให้ สกรศ.ดำเนินการรวบรวมเสนอที่ประชุมฯ ต่อไป” นายคณิศ กล่าว

นายคณิศ  คาดว่า มูลค่าลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานในโครงการ EEC ประมาณ 7 แสนล้านบาท และคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลโครงการต่าง ๆ ได้ภายในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า และมูลค่าการลงทุนจากบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนใน EEC คาดว่าประมาณ 5 แสนล้านบาท โดยจะเน้นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น อาลีบาบา โบอิ้ง แอร์บัส ทั้งนี้เชื่อว่าหากสามารถดึงนักลงทุนเข้ามาได้จะส่งผลดีต่อการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศได้มากขึ้น พร้อมกันนี้ตั้งเป้าดึงบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนภายในปีนี้ให้ได้ 30 แห่ง และหลังจากที่ประชุมฯ ได้อนุมัติโครงการขนาดใหญ่แล้ว จะส่งผลดีต่อการเจรจากับนักลงทุนได้ง่ายขึ้น โดย สกรศ.มีแผนจะเดินทางไปโรดโชว์ที่จีนและยุโรป เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

“โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 เข้าพบนายกฯ

“โอปอล สุชาตา” รองอันดับ 3 มิสยูนิเวิร์ส 2024 เข้าพบ “แพทองธาร” นายกฯ ชื่นชมเป็นคนเก่ง-มองโลกบวก เป็นหน้าตาของประเทศ นำเสนอวัฒนธรรม-ซอฟต์พาวเวอร์ ผ่านการประกวด พร้อมชวนร่วมงานรัฐบาล สร้างแรงบันดาลใจเด็กๆ ขณะที่ นายกฯ เขินถูกชมว่าตัวจริงสวย

ล้มล้างการปกครอง

ศาล รธน.มีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้อง “ทักษิณ-พท.” ล้มล้างการปกครอง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากไม่รับคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ล้มล้างการปกครอง

คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญถกคำร้อง “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างฯ

จับตา ศาลรัฐธรรมนูญ “รับ/ไม่รับ” คำร้องปม “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย” ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่