รัฐสภา 6 ก.ค.-ที่ประชุมสนช.มีมติเอกฉันท์รับรองพ.ร.ก.จัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเป็นพ.ร.บ. พร้อมเรียกร้องป้องกันปัญหารับสินบน เงินค่าปรับที่อาจเป็นช่องทางทุริต
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้( 6 ก.ค.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่หนึ่งเป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว ซึ่งตามขั้นตอนทั่วไปของการพิจารณาพระราชกำหนด เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเพื่อให้ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น
พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทาวงแรงงาน ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องตราพระราชกำหนดนี้ เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่คือพ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวและพ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานในระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ ทำให้ไม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จะมีผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ โดยหลักการของพ.ร.ก.ฉบับนี้คือการรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการตระหนักถึงเหตุผลทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งหลักสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปโดยเรียบร้อยและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้มีปัญหาและส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั่วประเทศ และการที่รัฐบาลออกมาตรา 44 ถือว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งบทลงโทษที่หนักหน่วงจนเกินไปในมาตรา 2 สำหรับแรงงานที่ทำผิดกฎหมาย คือปรับไม่น้อยกว่า 400,000บาท แต่ต้องยอมรับว่าบ้านเมืองมีปัญหามานาน จึงจำเป็นต้องใช้ “ยาแรง” หรือกฎหมายที่เข้มงวด แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบันการเกิดมีน้อย ประชากรลดลง ทำให้จำนวนคนที่จะเข้าสู่ภาคแรงงานน้อย จึงอยากให้ช่วยคิดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่จะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานด้วย นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่เรียกรับสินบนจากแรงงานต่างด้าว โดยขอให้รัฐบาลจัดการให้เด็ดขาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากสมาชิกอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง รัฐมนตรีว่าการกรดทรวงแรงงาน ยืนยันว่าก่อนที่จะออกพ.ร.ก.นี้ ทางกระทรวงได้รณรงค์ไม่ให้ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2557 โดยมีแคมเปญว่า “ผิดเป็นจับ ปรับเป็นแสน”
ด้าน นายวรานนท์ ปิติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า คนของกระทรวงแรงงานจะต้องไม่ทุจริต หากพบจะดำเนินการอย่างเฉียบขาดและจริงจัง มั่นใจว่าภายในเวลา 4 เดือนจะสามารถดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ความกังวลของสังคมได้ ทั้งเรื่องเงื่อนเวลา การพิสูจน์สัญชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง รวมทั้งจะนำข้อกังวลเกี่ยวกับบทลงโทษที่บางส่วนยังมองว่า เป็นอุปสรรคต่อการนำแรงงานเข้าสู่ระบบ ว่าจะสามารถผ่อนคลายได้อย่างไร ยืนยันกระทรวงแรงงานไม่ปิดกั้นเรื่องแรงงานต่างด้าว เนื่องจากประเทศไทยยังขาดแรงงานจำนวนมาก
นายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวมีกระบวนการทุจริตเกิดขึ้นในทุกระดับ มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ โดยเฉพาะที่ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาครแห่งเดียว มีการจ่ายกันถึงเดือนละ 30 ล้านบาท และขั้นตอนการทุจริตตั้งแต่เรื่องหนังสือผ่านแดนหมดอายุไปจนถึงการใช้รถราชการมารับ-ส่งที่นั่งละ 2,500 บาท จึงขอให้พิจารณาเรื่องบทลงโทษปรับจำนวน 400,000-800,000 บาทให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เป็นช่องว่างให้เกิดทุจริต
จากนั้นที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบรับรองพ.ร.ก.ฉบับนี้ด้วยคะแนน 177 ต่อ 0 งดออกเสียง 11 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง.-สำนักข่าวไทย