ดีเอสไอ 5 ก.ค.-กรมการขนส่งทางบก ส่งเอกสารประมูลรถทหารปลอม 1,136 คัน ให้ดีเอสไปตรวจสอบ
จากกรณีที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ตรวจสอบพบพิรุธเรื่องการยื่นเอกสารการประมูลรถขายทอดตลาดและได้ประสานกรมการขนส่งทางบก (ขส.ทบ.) ขอตรวจสอบรายละเอียด พบว่ามีขบวนการยื่นเอกสารส่งบัญชีรถแจ้งการประมูลขายทอดตลาดลงนามโดยพันเอกรายหนึ่ง เป็นรถ 1,136 คัน เป็นการยื่นเอกสารเท็จ เนื่องจากห้วงระยะเวลาดังกล่าว ขส.ทบ. ไม่มีการประมูลรถขายทอดตลาดแต่อย่างใด แต่เป็นการจัดทำเอกสารปลอมขึ้น ส่งผลให้มีรถที่จดทะเบียนจากการยื่นเอกสารบัญชีเท็จไปจำนวน 605 คัน โดยกระจายการจดทะเบียนไปจังหวัดต่างๆ
แบ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จำนวน 289 คัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คนจำนวน 22 คัน รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล จำนวน 265 คัน รถบรรทุกส่วนบุคคลขนาดใหญ่จำนวน 19 คัน รถโดยสารประจำทาง จำนวน 2 คัน รถโดยสารไม่ประจำทางจำนวน 7 คัน รถโดยสารส่วนบุคคล จำนวน 1 คัน และในจำนวนนี้มีรถบางส่วนได้ย้ายทะเบียนรถไปจังหวัดต่างๆ อีก 18 จังหวัด
ในช่วงบ่ายวันนี้ พ.ต.ต.วรนันท์ ศรีล้ำ รองโฆษก กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าวว่า ช่วงเวลาประมาณ 15.45 น.วันนี้(5 ก.ค.)นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ส่งหนังสืออกสารหลักฐานข้อมูลรายละเอียดยานพาหนะชำรุดขายทอดตลาดปลอม ของกองคลังกรมหารขนส่งทหารบก แบ่งเป็น 2 บัญชีหลัก คือบัญชีรายละเอียดยานพาหนะชำรุดขายทอดตลาด (ยังไม่ได้จดทะเบียน)รวม 531 คัน และ บัญชีรถที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียน และการดำเนินการทางทะเบียน รวม 605 คัน มาให้ทางดีเอสไอดำเนินการตรวจสอบ
กระบวนการนี้เกิดขึ้นในลักษณะ 2 ขั้นตอน คือปกติทางทหารจะมีการขายทอดตลาดรถที่ไม่ไช้แล้วปีละ 1 ครั้งโดยกรณีนี้มีการจัดทำเอกสารรถ 1,136 คันปลอมขึ้นมาทั้งหมด โดยที่ไม่มีรถอยู่จริง และแจ้งบัญชีไปยังกรมการขนส่งทางบก และอีกส่วนมีการจัดทำเอกสารว่ามีประชาชนมาประมูลรถได้ 605 คันโดย ไปขอตัดบัญชีจากบัญชีแรกที่ส่งไป
จากนั้นก็จะนำเอกสารไปออกทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกในจังหวัดต่างๆ ซึ่งพบว่ามีประมาณ 20 จังหวัด โดยหลังจากนี้การทำงานของ ดีเอสไอ จะแบ่งเป็น 2ส่วนคือการปลอมแปลงเอกสาร ที่เป็นความผิดทางอาญา จะต้องนำส่งให้คณะกรรมการพิจารณาว่าจะสามารถรับเข้าเป็นคดีพิเศษได้หรือไม่
ส่วนที่ 2 คือรถ 605 คันที่จดทะเบียนไป อาจจะเป็นรถที่นำเข้ามาโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ โดยจะนำมาเทียบเคียงว่าจะเข้าลักษณะเดียวกับกรณีรถหรูที่นำเข้ามาโดยไม่ผ่านขั้นตอนศุลกากรหรือไม่ โดยรถทั้งหมดเป็นบัญชีรถที่เกิดขึ้นในปี 2559 ทยอยส่งเรื่องทั้งหมดให้กรมการขนส่งทางบกรวม 9 ครั้ง
ทั้งนี้จะมีการเกี่ยวข้องกับรถที่ขโมยมา หรือจดประกอบเพื่อหนีภาษีหรือไม่ต้องเวลาให้คณะกรรมการประชุมและลงพื้นที่ติดตาม สอบสวนผู้เกี่ยวข้องตามรายชื่อในเอกสารทั้งหมดก่อนจึงสามารถบอกได้ว่ารถทั้งหมดมีที่มาอย่างไรเกี่ยวข้องกับกลุ่มไหน หรือมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ ขอเวลาดำเนินการโดยจะเร่งให้เร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย