กรุงเทพฯ 18 มิ.ย.- กระทรวงมหาดไทยติวเข้มผู้ว่าราชจังหวัด เร่งบูรณาการพัฒนาและแก้ไขปัญหาพื้นที่ ชูจุดเด่นของแต่ละพื้นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว ย้ำ ต้องใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส ไม่ทุจริต
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารงานแบบบูรณาการในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาจังหวัด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอรัฐบาลให้พิจารณาปรับปรุงระเบียบและกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ให้เป็นฉบับเดียวกัน โดยให้ส่วนราชการในพื้นที่และผู้แทนภาคประชาชนร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาตำบล แผนพัฒนาอำเภอ แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดเป็นแผนเดียวกัน ให้แบ่งพื้นที่เพื่อการพัฒนาประเทศออกเป็น 6 ภาค ซึ่งแผนพัฒนาทุกระดับ จะประกอบด้วยปัญหาและความต้องการในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ ให้ใช้แผนพัฒนาภาคเป็นเครื่องมือในการกำหนดเป้าหมายและความต้องการด้านพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้ส่วนราชการนำไปจัดทำเป็นแผนงานขอรับงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมาย
สำหรับการบริหารงานตามรูปแบบดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมทั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีบทบาทสำคัญต่อการจัดทำแผนพัฒนาในพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยจึงสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน้อมนำหลักการทรงงานและยุทธศาสตร์พระราชทานในเรื่องเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นหลักคิด และใช้ในการบริหารงานแบบบูรณาการ โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งต้องพิจารณาพื้นที่ที่มีจุดเด่นด้านภูมิประเทศ พื้นที่ที่มีจุดเด่นด้านการผลิตสินค้าพื้นเมืองหรือผลิตภัณฑ์ OTOP สำหรับพื้นที่บางแห่งที่ยังไม่เห็นจุดเด่นชัดเจน ให้พยายามเสริมสร้างเรื่องราวหรือตำนานของพื้นที่ ให้นักท่องเที่ยวรู้จักและอยากมาเยี่ยมเยียน เน้นสร้างดาวเด่นของสินค้า รวมทั้งจัดงานเทศกาล งานรื่นเริง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวพืชผลการเกษตรหรือช่วงมีผลไม้ตามฤดูกาล ขณะเดียวกัน ให้จังหวัดพิจารณาใช้คณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) หรือคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายสานพลังประชารัฐประจำจังหวัด (คสป.) คณะใดคณะหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ ให้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัดแบบบูรณาการ โดยกำหนดให้ประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อทำหน้าที่คิดค้นวิธีการขับเคลื่อนการบริหารงานต่างๆ และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่ที่รัฐบาลกำหนดเป็นพื้นที่รองรับนโยบายพิเศษนำจุดเด่นมาขยายผล เพื่อสร้างอาชีพให้กับประชาชน พร้อมประสานงานเชิงรุก โดยจับคู่กับกระทรวง กรม องค์การระหว่างประเทศ สถานทูตประเทศต่าง ๆ ในประเทศไทย ตลอดจนภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมจุดขายด้วย สำหรับจังหวัดที่มีปัญหาเฉพาะในบางด้าน ให้คณะกรรมการ IPSDC จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาไว้โดยเฉพาะ โดยคำนึงถึงการวางพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวของจังหวัด ซึ่งในแผนดังกล่าวต้องกำหนดวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหาตามขั้นตอนการบริหารสถานการณ์วิกฤติ ทั้งนี้ ให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และมีการซักซ้อม หากเกิดเหตุการณ์ จะไม่เกิดความตื่นตระหนก ขณะที่ในพื้นที่ที่ประชาชนมีความแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมท้องถิ่น แล้วมีกลุ่มคนพยายามนำความแตกต่างนั้นมาสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง จะต้องดำเนินการทุกวิถีทางตามกฎหมายให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนกับภาครัฐในการร่วมกันแก้ไขปัญหา และเชิญชวนภาคประชาสังคมร่วมสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันผ่านสื่อ สร้างการยอมรับและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตรวจสอบป้องกันและระมัดระวังการปล่อยข่าวลือ ที่สำคัญ ต้องให้จังหวัดใช้งบประมาณอย่างถูกต้องตามระเบียบ กฎหมาย โปร่งใส ไม่ทุจริต ทั้งนี้ คณะกรรมการ IPSDC อาจแต่งตั้งคณะทำงานย่อย เพื่อให้มีเจ้าภาพหรือผู้รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัดแต่ละด้านด้วย.-สำนักข่าวไทย