รัฐสภา 5 มิ.ย.-สนช.จัดสัมมนาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท เตรียมเข้าสนช.วาระแรก 8 มิ.ย.นี้ รองประธาน สนช.หวังรัฐใช้งบคำนึงถึงประโยชน์ชาติ
คณะกรรมการวิชาการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสถาบันพระปกเกล้า ร่วมจัดการสัมมนาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 โดยมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะขับเคลื่อนได้ จำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นฟันเฟืองสำคัญ แต่การใช้งบประมาณต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.วาระรับหลักการในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ โดยมีเวลาแปรญัตติ 15 วัน ยืนยันว่าสนช.พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้มีความสมบูรณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด
นายวิชญายุทธ บุญชิด ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวอภิปรายประเด็นสำคัญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2561 ว่า การจัดสรรงบประมาณในปี 2561 อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายรัฐบาล และประเด็นการปฏิรูป โดยการจัดทำงบประมาณประจำปี ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น ทำให้ภาครัฐกำหนดกรอบนโยบายเศรษฐกิจระยะยาว รวมถึงรักษากรอบวินัยการเงินการคลังระดับประเทศ
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2561 กำหนดวงเงินงบประมาณ จำนวน 2.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ งบกลางประมาณ กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง และหน่วยงาน กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ และกลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ
สำหรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ได้ตั้งวงเงินไว้ที่ 2.9 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 23,000 ล้านบาท เป็นงบขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท และระบุไว้ในเอกสารงบประมาณว่า รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 3.3-4.3 จากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการ และการลงทุนของภาคเอกชนที่ฟื้นตัวและขยายตัวมากขึ้นด้วย
ส่วนหน่วยงานที่ได้งบประมาณมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กระทรวงศึกษาธิการ มากกว่า 5.1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.6 งบกลาง มากกว่า 3.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.6 กระทรวงมหาดไทย มากกว่า 3.5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.3 กระทรวงการคลัง มากกว่า 2.3 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.2 และกระทรวงกลาโหมมากกว่า 2.2 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.7 .-สำนักข่าวไทย