กรุงเทพฯ 28 พ.ค. – กระทรวงเกษตรฯ หารือเยอรมนี หนุนแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร พร้อมเชิญร่วมงานประชุม GFFA ในงาน International Green Week 2018 ประเทศเยอรมนี
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือร่วมกับนายแบร์น อูโด ฮาฮ์น รองปลัดกระทรวงอาหารและการเกษตรเยอรมนี เกี่ยวกับงานประชุมระดับนานาชาติว่าด้วยอาหารและการเกษตร (GFFA) ซึ่งจะจัดคู่ขนานระหว่างการจัดงาน International Green Week 2018 ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 28 มกราคม 2561 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเยอรมนีได้เชิญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าร่วมการจัดแสดงคูหา พร้อมทั้งเชิญพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุม GFFA เพื่อหารือประเด็นที่เป็นคำถามสำคัญระดับโลกเกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมเกษตร โดยการประชุมจะประกอบด้วยผู้แทนจากหลากหลายสาขา ทั้งสาขาการเมือง ธุรกิจ วิทยาศาสตร์ และสังคม เพื่อร่วมแบ่งปันความคิดเห็นต่อนโยบายด้านการเกษตรในปัจจุบัน โดยระหว่างการสัมมนา GFFA จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการเกษตรควบคู่ภายใต้การสัมมนา ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการเกษตร
นอกจากนี้ ทางเยอรมนีได้เชิญชวนให้ฝ่ายไทยเข้าร่วมเยี่ยมชมคูหาเยอรมนีในงานแสดงสินค้า THAIFEX-World of Food ASIA 2017 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม- 4 มิถุนายน 2560 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารที่มุ่งเน้นส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารและเครื่องดื่มของไทย เพื่อเปิดโลกทัศน์การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้ชาวต่างชาติและคนไทยได้รับรู้ถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ประกอบการด้านสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมอาหารทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ร่วมออกบูธจาก 45 ประเทศทั่วโลก กว่า 2,100 บริษัท 5,200 คูหา
ทั้งนี้ ทางเยอรมนีขอทราบถึงนโยบายการปรับโครงสร้างด้านการเกษตรของไทยเพื่อก้าวเข้าสู่เกษตร 4.0 และความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งปี 2560 กระทรวงเกษตรฯ กำหนดให้เป็น “ปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน” โดยมีการเชื่อมโยงเป้าหมายเกษตร 4.0 กับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการพัฒนาและใช้พื้นที่เกษตรกรรมที่มีอย่างจำกัดสู่เป้าหมายปลายทาง คือ คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น ทั้งด้านฐานะทางสังคม มีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง ตลอดทั้งทำให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพมีตลาดรองรับ ทำให้ต้นทุนลดลงร้อยละ 20 และผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
ขณะที่ทางฝ่ายไทยหารือถึงความร่วมมือแบบบูรณาการด้านการเกษตรร่วมกับเยอรมนี เนื่องจากเยอรมนีเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง ทั้งด้านเครื่องจักรการเกษตร นวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานทดแทน การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ หากทั้ง 2 ประเทศร่วมมือกันแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรในเชิงการพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และการเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของไทยไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม แก้ไขปัญหากลไกการตลาด สร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีไทย และสามารถต่อยอดไปสู่การค้าในอนาคต ซึ่งรายละเอียดได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ฝ่ายหารือกันต่อไป นอกจากนี้ ยังแจ้งให้ทางเยอรมนีทราบถึงการดำเนินงานของกรมประมงเพื่อต่อต้านการใช้แรงงานผิดกฎหมายและการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลไทยกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งทางเยอรมนีรับทราบถึงความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาของไทยและจะแจ้งให้ให้หน่วยงานในสหภาพยุโรป (อียู) รับทราบต่อไป.-สำนักข่าวไทย