กทม.22 พ.ค.-‘วัลลภ สุวรรณดี’ เผย กทม.เผยมีต้นไม้ใหญ่เสี่ยงโค่น 785 ต้น เร่งดำเนินการค้ำยัน หวั่นล้มอีกช่วงฤดูฝนที่จะตกหนักอีกระลอก
นายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความแข็งแรงต้นไม้ใหญ่ในเมืองกรุงว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากสำนักสิ่งแวดล้อม พบทั้ง 50 เขต มีต้นไม้ใหญ่ที่ต้องค้ำยัน 785 ต้น ไม่นับรวมพื้นที่เอกชน และต้องล้อมเพื่อขุดออกกว่าอีก 965 ต้น
ขณะเดียวกันมีต้นไม้ที่ต้องตัดท่อนความสูงออกอีก 1,075 ต้น รวมแล้วในพื้นที่ กทม.มีต้นไม้ที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข 1,925 ต้น ตลอดจนในพื้นที่สวนสาธารณะของ กทม.พบมีต้นไม้ที่ต้องค้ำยัน 1,026 ต้น และอีก 164 ต้น ที่ต้องตกแต่งให้เหมาะสม ซึ่งจะเร่งดำเนินการแก้ไขร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
ด้านนางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีการค้ำยันต้นไม้ใหญ่ ต้องเสียค่าใช่จ่ายประมาณต้นละ 5,000-20,000 บาท และหากต้องล้อมเพื่อขุดออกเสียค่าใช้จ่ายประมาณต้นละ 1,000 บาท หลังจากนี้ได้กำชับให้แต่ะละเขตประสานทำความเข้าใจกับอาคารเอกชนให้แก้ไขปัญหาต้นไม้ใหญ่ที่เสี่ยงล้มโดยเร็ว ซึ่งในวันศุกร์นี้เตรียมประชุมรวมกับการไฟฟ้านครหลวง หารือถึงแนวทางดูแลตกแต่งต้นไม้ใหญ่แบบบูรณาการ แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ฝนตกในช่วงที่ผ่านตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณน้ำมากกว่าปีก่อนร้อยละ 8 เฉพาะเดือนพ.ค.มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีก่อนถึงร้อยละ 85 ซึ่งจากการดำเนินงานเชิงรุกเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยเบสท์เคลื่อนที่เร็ว ที่สำคัญการเพิ่มเครื่องสูบน้ำบริเวณจุดอ่อน จากเดิมทั่วกรุงมีกำลังสูบอยู่ที่เครื่องจักร 350ลบ.ม./วินาที แต่ปัจจุบันทั่วกรุงมีกำลังสูบอยู่ที่ 480 ลบ.ม./วินาที สามารถเร่งระบายปริมาณน้ำฝนได้เร็วขึ้น จนเหลือจุดอ่อนน้ำท่วมขัง 13 จุด ลดลงจากปีก่อน 1 จุด
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า กทม.ได้ประสานหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น แนวก่อสร้างรถไฟฟ้า เสริมผิวจราจรชั่วคราว และปริมณฑลพื้นที่รอยต่อ กทม.เพื่อดำเนินงานแบบบูรณาการ รับมือปริมาณน้ำฝนที่คาดว่าจะตกหนักอีกระลอก ทั้งนี้ กทม.เดินหน้าแก้ไขจุดอ่อนน้ำท่วมระยะยาวภายใต้งบที่รัฐจัดสรรให้วงเงิน 2,200ล้านบาท โดยภายในปีนี้จะดำเนินการวางท่อใต้ดิน 11 จุด และปีหน้าอีก 4 จุด ด้วยระบบดันท่อไม่เปิดพื้นผิวจราจร ไม่กระทบต่อประชาชนที่สัญจรไป-มา
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชนงดทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ที่เป็นอุปสรรคขวางทางน้ำไหล ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีขยะไหลมาติดตรงอุโมงค์ยักษ์ทั่วกรุงแล้ว 10 ตัน หากเทียบกับปีก่อนที่ตลอดทั้งปีมีขยะที่เก็บจากคลองได้ทั้งหมด 20 ตัน .-สำนักข่าวไทย