กรุงเทพฯ 17 พ.ค.- กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สั่งตรวจสอบคำให้สัมภาษณ์ ปลัดอำเภอแม่สะเรียง เรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องซื้อบริการเด็ก เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ พร้อมสั่งตรวจสอบตราสัญลักษณ์ ที่สหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย นำมาใช้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องหมายของวิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง หากพบว่าเป็นความผิด จะดำเนินการตามกฎหมาย
ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบ การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ของนายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ ปลัดอำเภอแม่สะเรียง ช่วยราชการที่ทำการปกครองจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกี่ยวกับ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อบริการเด็กและการค้าประเวณีเยาวชน นั้น จะตรวจสอบว่าการพูดหรือการกระทำของนาย บุญญฤทธิ์ ที่ให้ข้อมูลพาดพิงบุคคลหรือกลุ่มข้าราชการ หรือกลุ่มประชาชนต่าง ๆ เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎอยู่ หรือไม่ เข้าเงื่อนไขเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ และหากผู้ใดนำข้อความหรือถ้อยคำของนายบุญญฤทธิ์ ไปเผยแพร่ ต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำผิดกฏหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(17 พ.ค.) กรมการปกครอง ได้ออกเอกสารชี้แจงมีเนื้อหาระบุว่า ปลัดอำเภอ เป็นชื่อตำแหน่งข้าราชการในสังกัดกรมการปกครอง มีจำนวนกว่า 8,000 คน ใน 76 จังหวัด 878 อำเภอทั่วประเทศ และมีเส้นทางทำงานที่จะเติบโตเป็นนายอำเภอ ปลัดจังหวัด ผู้บริหารกรมการปกครอง รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ สหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย เป็นเพียงการรวมตัวของปลัดอำเภอเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับ
ขณะนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบ กรณีสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย ใช้ตราสัญลักษณ์ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องหมายของวิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ หากพบว่าเป็นความผิดและนำไปสู่ความเสื่อมเสีย ก็จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมการปกครอง ยืนยันว่า ไม่ปิดกั้นการรวมตัวของข้าราชการในสังกัด ในการที่จะเสนอแนวทางการพัฒนาองค์กร เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ สวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการในแนวทางที่ถูกต้อง แต่ต้องระมัดระวังในการให้ข้อมูลข่าวสารที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของบุคคล หน่วยงาน และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ ภาพลักษณ์ขององค์กร และควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นและสาธารณชนเกิดความสับสน ซึ่งกรณีของ นายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ หากมีข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี ก็ควรไปให้ข้อมูลดังกล่าว ต่อพนักงานสอบสวน หรือแจ้งให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ เพื่อประกอบการพิจารณาตามขั้นตอนของกระบวนการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการต่อไป.-สำนักข่าวไทย