กรุงเทพฯ 15 พ.ค. – กระทรวงคมนาคมเตรียมพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการรถตู้โดยสารที่ต้องการเปลี่ยนเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก โดยให้กรมขนส่งทางบกให้เงินอุดหนุน 200,000 บาท มีเงื่อนไขต้องเปลี่ยนจากรถตู้เป็นรถโดยสารขนาดเล็กและดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัย
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมความปลอดภัยของการใช้รถตู้โดยสารสาธารณะ ว่า ที่ประชุมหารือเรื่องวงเงินประกันภัยภาคสมัครใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ประกาศโดยกรมการขนส่งทางบกวงเงิน 300,000 บาท และมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 700,000 บาท ภายในวันที่ 1 มกราคม 2561
ส่วนมาตรการด้านการเงินได้หารือสถาบันการเงินและบรรษัทประกันอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่าร้อยละ 5 ประมาณ 7 ปี ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถคุ้มทุนในระยะเวลา 3 ปี และอีก 4 ปีจะทำกำไร ทั้งนี้ ยืนยันว่ากรณีที่ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารจะคืนทุนได้ในระยะเวลา 3 ปีจะต้องมีผู้โดยสารร้อยละ 60 สามารถทำได้ เพราะเป็นตัวเลขตามข้อเท็จจริง
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร โดยรถเก่าจะรับซื้อคืนโดยสหพันธ์ขนส่งรถบรรทุก ซึ่งเงินที่ได้สามารถนำไปเป็นเงินดาวน์ต่อได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอด้านการเงิน เช่น การให้เงินอุดหนุนสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเปลี่ยนรถตู้โดยสารเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก โดยให้กรมการขนส่งทางบกสนับสนุน แต่มีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการที่จะได้เงินสนับสนุน 200,000 บาทจะต้องเปลี่ยนจากรถตู้โดยสารเป็นรถโดยสารขนาดเล็กและจะต้องดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยของกรมการขนส่งทางบก เช่น การติดตั้งอุปกรณ์ส่วนควบ โดยจะมีการประชุมอีกครั้งวันที่ 31 พฤษภาคมนี้
สำหรับราคารถโดยสารขนาดเล็กจะเริ่มต้นคันละ 1.7 ล้านบาท ถึง 2.2 ล้านบาท เป็นราคาตามท้องตลาดที่ผู้ประกอบผลิตรถแจ้งมา โดยให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ทำโครงการนำร่อง 13 เส้นทาง รถโดยสารขนาดเล็ก 55 คัน ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการก่อน 6 เส้นทาง เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเรือ , กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา, กรุงเทพฯ-บางบัวทอง-สุพรรณบุรี ส่วนอีก 7 เส้นทาง กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการพิจารณา คาดว่าอีก 1 เดือนจะครบทั้ง 13 เส้นทาง ส่วนการดีเดย์รถตู้โดยสารให้ปรับเป็น 13 ที่นั่ง ซึ่งจะดำเนินการจับปรับขณะนี้ผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมีผู้ประกอบการมากกว่าร้อยละ 90 ดำเนินการตามมาตรการที่กำหนด. – สำนักข่าวไทย