กรุงเทพฯ 5 พ.ย.-ทีดีอาร์ไอ ระบุ ราคาข้าวหอมมะลิที่ร่วงอย่างรุนแรงในรอบ 9 ปีเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่น่าจะเกิดจากการเมือง แนกทำระบบพยากรณ์ข้าวให้ชัดเจน ป้องกันการคาดคะเนที่ผิดพลาด เกิดการเก็งกำไร และกดราคา จนส่งผลกระทบหนักต่อชาวนาไทย
นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)ระบุว่า ตั้งแต่กลางตุลาคมเป็นต้นมา ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิทรุดฮวบแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ราคาข้าวเปลือกที่เป็นข้าวเก่าลดลงจาก 12,090 บาทต่อตันในเดือนกันยายนเหลือ 10,500 บาทต่อตันในวันที่ 28 ตุลาคม 2559 หรือลดลง 13% เทียบกับช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนปีนี้ที่ลดลงเพียง 2% โดยราคาข้าวนี้เป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี ทั้งๆที่ยังไม่ได้เกี่ยวข้าวในเดือนตุลาคม สาเหตุสำคัญที่ราคาข้าวเปลือกลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะราคาข้าวสารหอมมะลิส่งออกที่เป็น ราคา ล่วงหน้าในเดือนธันวาคม 2559 ลดฮวบมาเหลือเพียง 548 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ต่ำกว่าราคาตลาด (spot price) 720 เหรียญเมื่อ 28 ตุลาคม 2559 ผลคือราคาขายส่งข้าวสารหอมมะลิใหม่เดือนแรกของการเก็บเกี่ยว(พฤศจิกายน 2559) เฉลี่ยหาบละ 1,330 บาท เทียบกับราคาของปีที่แล้วหาบละ 1,750 บาท ลดลงไป 420 บาท เป็นการลดลงแบบผิดปรกติ
โดยข้อเท็จที่เกี่ยวข้อง 3 ด้านในขณะนี้ คือ 1.แม้จะยังไม่มีการเกี่ยวข้าวหอมในเดือนตุลาคม แต่ก็มีการซื้อขายข้าวเปลือกปีก่อนในภาคอิสานและเชียงรายแบบประปราย เพราะชาวนาบางคนที่มีข้าวเปลือกเก่าในยุ้งฉางของตน นำข้าวเปลือกออกขาย 2. ราคาส่งออกข้าวสารหอมมะลิเป็นราคาซื้อขายล่วงหน้า (forward price) ของผู้ส่งออกข้าวไทยที่ไปเสนอขายให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ แล้วใช้เป็นฐานกำหนดราคารับซื้อข้าวเปลือกในช่วงเก็บเกี่ยว ราคานี้ไม่ใช่ราคาที่เปิดเผย แต่จะถูกเปิดเผยเมื่อผู้ซื้อต่างประเทศหันมาเจรจาขอซื้อข้าวจากผู้ส่งออกรายอื่นๆ และ 3. ราคาล่วงหน้าเป็นตัวกำหนดราคาข้าวเปลือกในวันนี้
“ แปลกดีใช่ไหมครับ ราคาล่วงหน้าเป็นราคาในอนาคตที่เกิดจากการคาดคะเนของพ่อค้าข้าวและโรงสี เกี่ยวกับอุปสงค์ (ความต้องการ) และอุปทาน (ผลผลิต) ของข้าวหอมมะลิในฤดูการผลิตใหม่
ถ้าพ่อค้าส่งออกคาดว่า การเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะมีอุปทานน้อย ขณะที่ อุปสงค์เท่าเดิม ราคาล่วงหน้าก็จะสูงขึ้น เพราะเขาจะรีบสั่งซื้อข้าวเปลือกก่อนที่ราคาจะสูงขึ้น หลังจากนั้นถ้ามีพ่อค้าส่งออกคนอื่นเริ่มสั่งซื้อมากขึ้น โรงสีและพ่อค้าท้องถิ่นก็จะรีบกว้านซื้อข้าวเปลือกเก่าที่มีอยู่ในตลาดมาส่งให้พ่อค้าส่งออก เพราะข้าวเปลือกเก่าและข้าวใหม่ต่างก็ทดแทนกันได้ ฉะนั้น ราคาล่วงหน้าจึงกำหนดราคาข้าววันนี้ตามกลไกการเก็งกำไรในตลาด”นายนิพนธ์ กล่าว
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ทำไมราคาล่วงหน้าของข้าวหอมมะลิจึงทรุดฮวบ คำตอบง่ายๆคือ พ่อค้า ส่วนใหญ่ คิดว่าหลังเก็บเกี่ยว เราจะมีอุปทาน หรือการผลิตเป็นจำนวนมหาศาล ขณะที่ความต้องการซื้อมีเท่าเดิม หรืออาจลดน้อยลงกว่าปีก่อน ซี่งปีนี้อิสานมีฝนดีกำลังผลิตจะสูง ในขณะที่คาดว่ามีสตอกตกค้างไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตัน โรงสีที่ยังไม่ได้ขายข้าวเปลือกดังกล่าวจึงไม่ได้ชำระหนี้ธนาคาร ฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีสภาพคล่องที่จะนำมาซื้อข้าวเปลือกในฤดูใหม่ นอกจากนี้พ่อค้ารายใหญ่บางรายก็กำลังประสบปัญหาการเงิน ทำให้ต้องหยุดซื้อข้าว ดังนั้นปีนี้พ่อค้าที่จะมาแย่งซื้อข้าวตอนเก็บเกี่ยวก็คงจะมีจำนวนน้อยลง
“สาเหตุสำคัญที่ราคาแปรปรวนไร้เสถียรภาพชั่วคราวเกิดจากการขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และตลาดเพิ่งได้ข้อมูลใหม่ๆในช่วงตุลาคม ผู้ที่มีข้อมูลดีที่สุดมักเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่คนที่มีเครือข่ายกว้างขวาง นี่คือเหตุผลที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หาหนทางแก้ไข โดยการสร้างตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแบบทางการ (futures market) เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้โรงงานแปรรูปและพ่อค้าสามารถป้องความเสี่ยง (hedging) จากความผันผวนของราคา นอกจากนั้นกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกายังลงทุนสร้างระบบการพยากรณ์ผลผลิตการเกษตรและความเสียหายที่มีความน่าเชื่อถือป้อนให้แก่ตลาด โดยมีการปรับปรุงผลการพยากรณ์ทุกๆเดือน”นายนิพนธ์กล่าว
ถ้าเรามีระบบพยากรณ์ผลผลิตและรายงานสตออข้าวทั้งในมือรัฐบาลและเอกชนที่น่าเชื่อถือ พ่อค้าทุกคนในตลาดก็จะมีข้อมูลชุดและน่าเชื่อถือ ราคาก็จะไม่ผันผวนมากนัก โดยบทเรียนที่ได้จากความผันผวนของราคาหอมมะลิครั้งนี้ บทเรียนแรก การที่พ่อค้าบางคนไปเสนอขายข้าวในราคาต่ำเกิดจากระบวนการเก็งกำไร ซึ่งเป็นเรื่องปกติของกลไกตลาด ไม่น่าจะเกิดจากปัจจัยการเมือง ส่วนการช่วยชาวนาที่ขายข้าวได้ราคาต่ำ โดยจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 800 บาทไม่เกิน 15 ไร่ เป็นวิธีที่น่าจะดีที่สุด เพราะทำให้ชาวนาไม่ขาดทุนและไม่บิดเบือนราคาตลาด
นายนิพนธ์ กล่าวว่า บทเรียนที่สอง คือ ตลาดข้าวไทยมีปัญหาด้านข่าวสารข้อมูลในตลาดข้าวที่น่าเชื่อถือตั้งแต่ราคาซื้อขายล่วงหน้า (ที่สมาคมการค้าต่างๆไม่เคยจัดทำอย่างเป็นระบบ เพราะเป็นราคาที่ผู้ส่งออกไทยแต่ละคนไปตกลงกับผู้ซื้อในต่างประเทศ) ทำให้วงการค้าเกิดความได้เปรียบสียเปรียบกันในเรื่องเก็งกำไร โดยพ่อค้ารายใหญ่ที่มีเงินทุน มีเครือข่ายใหญ่ มีเส้นสายก็จะได้เปรียบคนอื่นๆ หน้าที่สำคัญของรัฐ คือ การลงทุนพัฒนาระบบการพยากรณ์ผลผลิตและสตอกข้าวให้น่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ตลาดมีข้อมูลถูกต้อง ลดความผันผวนจากการเก็งกำไรแบบตื่นตกใจ และทำให้พ่อค้ารายเล็กมีข้อมูลใกล้เคียงรายใหญ่ โดยต้องระดมความร่วมมือของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สนเทศที่มีภาพถ่ายดาวเทียม ,สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร,กรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร ,อาจารย์ด้านเกษตรนักเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งข้อมูลและผู้เชี่ยวชาญของกรมอุตุนิยม กระบวนการพัฒนาการพยากรณ์ผลผลิต สตอกข้าวและอุปสงค์ โดยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปีจึงจะได้ข้อมูลที่อยู่ตัว-สำนักข่าวไทย