กรุงเทพฯ 10 เม.ย.-นักวิชาการ มองงบดิจิทัลวอลเล็ตไม่คุ้ม เบียดงบ เพิ่มขีดความสามารถของประเทศกระทบเศรษฐกิจไทยระยะยาว จี้รัฐแจงการใช้งบปี 68 และ ธ.ก.ส. เพราะสุดท้ายก็เป็นการกู้และมีภาระดอกเบี้ย
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า การแถลงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต วันนี้ (10 เม.ย.)ว่า รัฐบาลทำการบ้านมาดีกว่าครั้งที่ผ่านๆมา อย่างไรก็ตามมองว่า นโยบายนี้ เป็นนโยบายหวังผลทางการเมืองต้องการโกยคะแนนเลือกตั้งครั้งหน้าให้มีชัยเหนือพรรคก้าวไกล เพราะหากดูภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ไม่เป็นวิกฤต การส่งออกและการบริโภคในประเทศก็ขยายตัวดีขึ้น การใช้วงเงิน ถึง 5 แสนล้านบาท แจกเงิน 1 หมื่นบาทแก่ 50 ล้านคนเป็นวงเงินที่สูงมาก มีเพียงผลระยะสั้น หากจะช่วยควรจะเป็นเฉพาะกลุ่มฐานรากที่เดือดร้อน และวงเงินนี้ก็จะกระทบต่องบประมาณด้านอื่นๆในอนาคต และหากเทียบกับวงเงินนี้กับวงเงินที่รัฐบาลจะสนับสนุนขีดความสามารถของประเทศ 1 แสนล้านบาทแล้ว แสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลให้ความสำคัญน้อยมากในขณะที่ประเทศชาติกำลังเสียเปรียบเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศระยะยาว
ที่สำคัญอยากให้รัฐบาลมอบหมายหน่วยงานวิจัย เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ว่าจ้างทีมวิจัยที่เป็นอิสระ ศึกษษถึงผลกระทบในระยะยาว หรือ 3-5 ปีข้างหน้าว่าหลังจากออกเงินดิจิทัลวอลเล็ตไปแล้วเกิดวิเคราะห์ว่าผลกระทบระยะยาวเกิดผลดีหรือความเสียต่อประเทศอย่างไร เพื่อประเมินผลให้ได้แล้วนำรายงานเสนอต่อรัฐสภาในอนาคตเพื่อให้เป็นบทเรียนของพรรคการเมืองว่า นโยบายที่ไม่รอบคอบจะเกิดปัญหาอะไรต่อประเทศ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายเหมือนโครงการจำนำข้าวในอดีต ที่กระทบหลายแสนล้านบาท
“ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการแจกเงินระยะสั้น ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่ต้องแจกเงินถึง 5 แสนล้านบาท ล่าสุด เศรษฐกิจก็ดีขึ้นส่งออกก็ขยายตัว การท่องเที่ยวก็ดีขึ้น ประเทศไทยไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจระยะสั้น แต่เป็นวิกฤติด้านโครงสร้าง ถ้าประชาชนฐานรากเดือดร้อน ก็ควรจะจำกัดการช่วยเฉพาะกลุ่มที่ยากจนดีกว่าการหว่านเงินเช่นนี้ แบบนี้ก็เป็นการพิสูจน์ชัดเจนว่าเป็นการทำเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเป็นหลักมากกว่าเป้าหมายการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ” รศ.ดร.นิพนธ์
รศ.ดร.นิพนธ์ มองว่า ที่มาของเงิน 3 แหล่งวงเงิน 5 แสนล้านบาทในนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งก้อนแรกมาจากงบฯ67 ก็ไม่น่ามีข้อสงสัยใดใด ว่าสามารถเกลี่ยมาได้เพราะปกติงบฯลงทุนก็ใช้ประมาณร้อยละ 70 ที่เหลือก็เกลี่ยมาได้ แต่ที่ยังมีความไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะจัดการอย่างไร เพราะในอนาคตต้องมีการกู้เงินมาคืนทั้งเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ งบฯปี 68 ที่จะนำมาใช้ในต้นปีงบประมาณ 68 จะกู้เงินมาจากกองทุนฯไหน ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ ซึ่งภาพรวมแล้วการใช้เงินก็เป็นการกู้อยู่ดีที่พยายามกู้ที่ถูกกฏหมาย
“เงิน ธ.ก.ส. และเงินงบฯ 68 ต้องมีการกู้มาและใช้คืน ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะกู้จากกองทุนฯภายใต้การกำกับของรัฐ กองทุนฯใด เช่น หากกู้จากกองทุนประกันสังคม ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็ถือว่าเป็นการกู้แบบแอบแฝง ก็ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงให้ชัดเจนว่า เงินจะมาจากกองทุนฯไหน และชำระหนี้อย่างไร จ่ายดอกเบี้ยเท่าใด แล้วแถลงให้รัฐสภาทราบอย่างชัดเจน เป็นกระบวนการทางประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลควรทำการบ้านเรื่องนี้มาก่อน เพราะมีเวลาตั้งนานก่อนที่จะแถลงในวันนี้” รศ.ดร.นิพนธ์ ระบุ
นอกจากนี้จากการใช้งบฯ68และการใช้เงินจาก ธ.ก.ส. เป็นการเบ่งเงินกู้ถึงระดับเพดานกู้สูงสุด คำถามคือจะเป็นการเบียดงบประมาณอื่นๆ แล้วภาครัฐจะมีวงเงินมาแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวอย่างไรเพราะจะต้องใช้เงินหลายปีนับหลานแสนล้านบาท เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีความสามารถ ด้านดิจิทัล การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน จึงเกรงว่า ใน 2-5 ปีข้างหน้าจะไม่มีเงินลงทุนด้านนี้หรือมีก็จะเป็นแบบจำกัดมาก และจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของไทยอ่อนแอลง
ทั้งนี้ รัฐบาลแถลงแหล่งเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทที่จะเริ่มแจกเงินในไตรมาส 4 /67 วงเงินราว 5 แสนล้านบาท รวม 50ล้านคนที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน8.4 แสนบาท โดยใช้ เงินจาก 3 ส่วนได้แก่ งบฯปี 68 วงเงิน 1.52 แสนล้านบาท, ใช้เงินจาก ธ.ก.ส. 1.72 แสนหมื่นล้าน เพื่อดูแล เกษตรกร 17 ล้านคนเศษ และบริหารจัดการงบปี 67และงบกลางฯ วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท.-511.-สำนักข่าวไทย